หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » จวน คงแก้ว
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๖ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์พุทธบาทลักษณะที่สัมพันธ์กับหลักพุทธธรรม
ชื่อผู้วิจัย : จวน คงแก้ว ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  ประพันธ์ ศุภษร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

                                             บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎี ประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของรอยพระพุทธบาทและพุทธบาทลักษณะในทางพระพุทธศาสนา        ๒) เพื่อศึกษารูปแบบ คุณค่าและประเพณีที่เกี่ยวข้องกับรอยพระพุทธบาทและพุทธบาทลักษณะ       ในสังคมไทย ๓) เพื่อวิเคราะห์พุทธบาทลักษณะที่สัมพันธ์กับหลักพุทธธรรม จากการศึกษาวิจัยพบว่า

             แนวคิดเรื่องศาสนาที่มนุษย์เป็นผู้เชื่อสิ่งที่สามารถควบคุมมีอิทธิพลเหนือวิถีทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของมนุษย์ ซึ่งได้เชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องรอยเท้าที่มาจากความเชื่อว่าเป็นรูปรอยที่เทพเจ้าหรือผู้มีความศักดิ์สิทธิ์ได้สัมผัสหรือประทับไว้บนโลก หรือเป็นเครื่องหมายที่บรรพบุรุษให้ไว้เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติของคนรุ่นหลัง ส่วนแนวคิดเรื่องพระรัตนตรัยเป็นศรัทธาความเชื่อมั่นที่เกิดจากการประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้วนำมาสั่งสอนว่ามีคุณความดีที่ขจัดทุกข์ได้จริง พระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอันเกษมสูงสุดกว่าที่พึ่งอย่างอื่นจริง แนวคิดเรื่องสังเวชนียสถานและ รอยพระพุทธบาทถือว่าเป็นบริโภคเจดีย์และอุทเทสิกเจดีย์ เป็นสื่อสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์เพื่อน้อมรำลึกถึง กราบไหว้บูชาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนโดยมีเจดีย์และสื่อสัญลักษณ์ประเภทต่างๆ เป็นหลักฐานซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีสัญญวิทยาและทฤษฎีสัญลักษณ์ทางศาสนา หมายถึงรูปหรือรอยพระพุทธบาทที่สร้างขึ้นมาก็ดี รอยพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์ทรงประทับไว้เองก็ดี ก็เพื่อให้มีความหมายแทนตัวจริงหรือของจริงคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือแทนรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทับไว้

ประวัติความเป็นมาของรอยพระพุทธบาทมีมูลเหตุมาจากรากฐานธรรมเนียมของชาวอินเดียที่นิยมทำความเคารพผู้ที่พึงเคารพบูชาที่เท้าหรือด้วยการเอามือไปแตะที่เท้าของผู้นั้นและมาจากความเชื่อตามคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาได้แก่ปุณโณวาทสูตร สังยุตตนิกาย อรรถกถา,           อรรถกถาธรรมบท ขุททกนิกาย, พงศาวดารมหาวงศ์ของประเทศศรีลังกา,วรรณกรรมบาลีรุ่นหลัง        ในประเทศไทย,และตำนานเรื่องเล่าในแต่ละประเทศที่ซึ่งมีผู้นับถือพระพุทธศาสนา ส่วนประวัติความเป็นมาของพุทธบาทลักษณะคือรูปมงคลในรอยพระพุทธบาทได้ถูกสร้างขึ้น ตามคติจากอินเดียที่มีแนวคิดเรื่อง มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ เพื่อจะแสดงสัญลักษณ์ว่าเป็นรอยพระพุทธบาทและตามคติจากศรีลังกาที่ถือตามคัมภีร์ชินาลังการฎีกา คัมภีร์นี้ได้บอกรายละเอียดของรูปมงคล ๑๐๘ ประการไว้ รอยพระพุทธบาทและพุทธบาทลักษณะได้มีพัฒนาการรูปแบบไปตามแนวคิดที่มีลักษณะที่ซับซ้อนขึ้นเป็นลำดับในประเทศต่างๆ เริ่มจากสร้างรอยพระพุทธบาทคู่อย่างเดียว ต่อมาได้เพิ่มรูปธรรมจักรไว้ตรงกลางฝ่าพระบาททั้งสองข้าง ต่อมาก็ได้เพิ่มรูปมงคลเป็น ๓ ประการ,และเป็น ๘ ประการ ครั้นต่อมาได้เพิ่มรูปมงคลให้มากขึ้นถึง ๑๐๘ ประการ ทั้งในรอยพระพุทธบาทคู่และ                      รอยพระพุทธบาทเดี่ยวซึ่งนิยมสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน รอยพระพุทธบาทและพุทธบาทลักษณะมีคุณค่าต่อพุทธศิลป์ในสมัยต่างๆ ตามศิลปะนิยมในสังคมไทย ด้านสถาปัตยกรรม ด้านประติมากรรม        ด้านจิตรกรรม ด้านวรรณกรรม และด้านอื่นๆ เช่น ด้านจิตใจ ด้านการศึกษาเพื่อให้เข้าถึงหลักธรรม ด้านเศรษฐกิจและสังคม และรอยพระพุทธบาทก่อให้เกิดประเพณีต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา  เกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทโดยตรงหลายประการ

             พุทธบาทลักษณะคือสื่อสัญลักษณ์รูปมงคลในรอยพระพุทธบาทในยุคแรกมีรูปธรรมจักรเพียงประการเดียว รูปธรรมจักรสัมพันธ์กับพุทธธรรมคือธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ยุคต่อมามีรูปมงคล ๓ ประการ คือธรรมจักร ตรีรัตนและสวัสดิกะ, ตรีรัตนสัมพันธ์กับหลักพุทธธรรมคือ แทนพระพุทธองค์ในสภาวะอันเป็นรูปปรากฏของสัจธรรม และสวัสดิกะสัมพันธ์กับวัฏฏะ ๓, ยุคต่อมาได้เพิ่มรูปมงคลมากขึ้นเป็น ๘ ประการสัมพันธ์กับหลักพุทธธรรมคือ โลกุตตรธรรม ๙, มหาปุริสลักษณะ ๓๒,พุทธรัตนะ,ธัมมรัตนะและสังฆรัตนะ,อรหัตตมัคคญาณและอรหัตตผลญาณ และยุคหลังต่อมานิยมทำพุทธบาทลักษณะให้มีรูปมงคล ๑๐๘ ประการ ในประเทศไทยได้นิยมใช้จำนวนเลข ๑๐๘ ในทางพุทธศาสตร์และในทางไสยศาสตร์ โดยภาพรวมรูปมงคล ๑๐๘ ประการสัมพันธ์กับหลักพุทธธรรมโดยเป็นสื่อสัญลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงหลักพุทธธรรมหลายประการเช่น มหาปุริสลักษณะ ๓๒,บารมี ๑๐,บูชา ๒,      เป็นต้น  ส่วนรูปมงคลทั้ง ๑๐๘ ประการในรอยพระพุทธบาทที่นักโบราณคดีได้แบ่งออก                    เป็น ๓ ประเภท คือประเภทที่เป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภความเจริญและความสมบูรณ์                         สัมพันธ์กับหลักพุทธธรรมคือบุญกิริยาวัตถุ ๓,สิกขา ๓,จักร ๔,อิทธิบาท ๔,วุฑฒิ ๔,และ                      ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔, ประเภทที่เป็นสัญลักษณ์เครื่องประกอบพระบารมีของพระมหากษัตริย์และพระเจ้าจักรพรรดิสัมพันธ์กับหลักพุทธธรรม คือ ทศพิธราชธรรม ๑๐ และประเภทที่เป็นสัญลักษณ์อันเป็นส่วนประกอบของภพ,ภูมิในระบบจักรวาลสัมพันธ์กับหลักพุทธธรรม คือ ภพ ๓,     ภูมิ ๔ และกฎแห่งกรรม.

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕