หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » จันทร์สว่าง นิลจันทร์
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๘ ครั้ง
พุทธบูรณาการการเล่าเรื่องในอรรถกถาชาดกกับการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ไทย
ชื่อผู้วิจัย : จันทร์สว่าง นิลจันทร์ ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  ประพันธ์ ศุภษร
  ฉลองรัฐ เฌอมาลย์ชลมารค
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

     รายงานการวิจัยเชิงคุณภาพฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ๑) การเล่าเรื่องในอรรถกถาชาดก ๒) การเล่าเรื่องในภาพยนตร์ไทย และ ๓) พุทธบูรณาการการเล่าเรื่องหลักธรรมในสื่ออรรถกถาชาดกให้มีความน่าสนใจและทันสมัยด้วยหลักการเล่าเรื่องในภาพยนตร์

     วิธีการวิจัยสำหรับวิเคราะห์การเล่าเรื่องหลักธรรมที่ปรากฎในทศชาติชาดกกับภาพยนตร์ที่ศึกษา จำนวน ๑๐ เรื่องนั้น ผู้วิจัยได้บูรณาการองค์ความรู้ด้านโครงสร้างการเล่าเรื่อง ๒ ประการ คือ   เรื่องเล่า และ วิธีการเล่า มาทำการศึกษาเทียบเคียง

     ผลการศึกษา พบว่า การเล่าเรื่องทศชาติชาดกในอรรถกถาชาดก มีโครงสร้างหลักสำคัญ ๕ ส่วน คือ (๑) ปัจจุบันวัตถุ  (๒) อตีตวัตถุ   (๓) คาถา  (๔) เวยยากรณะ (๕) สโมธาน ในการเดินเรื่องเล่าเรื่องแก่นการบำเพ็ญบารมีธรรมของพระโพธิสัตว์ในชาติต่างๆ เพื่อยืนยันความเชื่อมโยงของบุคคลและเรื่องราวอันเนื่องมาจากผลของกรรมที่ทำมาในอดีตชาติ ตัวละครในอรรถกถาชาดกทั้งหมดเป็นตัวละครมิติเดียว หรือ ประเภทตัวแบนที่มีนิสัยสื่อถึงความดีหรือความชั่วด้านเดียว ปมความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างคนกับคน และ คนกับสังคมมากกว่าภายในตนเอง วิธีการเล่าใช้การพัฒนาเรื่องราวตามลำดับเวลา ส่วนมุมมองในการเล่าเรื่องเป็นแบบรู้รอบด้าน

     ส่วนการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ไทยที่สะท้อนหลักทศบารมีธรรมนั้น พบว่า โครงเรื่องเล่าหลักที่นำมาใช้ถ่ายทอดเรื่องเล่าแนวธรรมะ คือ ภาพยนตร์แนวชีวิต (Drama) ภาพยนตร์                เหนือธรรมชาติ (Fantasy) และ ภาพยนตร์ตลก โดยใช้เทคนิคเล่าเรื่องธรรมด้วยการโยงศรัทธาของคนเข้าหาแก่นธรรม  ตัวละครในเรื่องเล่าเป็นตัวละครหลากมิติ หรือ ประเภทตัวกลมซึ่งมีความหลากหลายในตนเองและมีการพัฒนานิสัยและการมองโลกไปตามช่วงเวลาของเรื่องราว ตัวละครจึงเป็นตัวแทนของมนุษย์ที่มีอวิชชา หรือ ความรัก โลภ โกรธ หลง อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์มีอยู่จริงในสังคม ประเด็นปมความขัดแย้งนำเสนอให้เห็นทั้งภายในตนเองและกับบุคคลอื่น การพัฒนาเรื่องเล่าส่วนใหญ่เป็นแบบเรียงลำดับเวลา มุมมองในการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ เป็นแบบผสมผสานคือมีการสลับผู้เล่าในการบรรยายเล่าเรื่อง 

     พุทธบูรณาการการเล่าเรื่องธรรมของอรรถกถาชาดกนั้นสามารถทำให้น่าสนใจและทันสมัยด้วยการเล่าเรื่องในภาพยนตร์ได้ด้วย ๒ แนวทาง คือ ๑) บุคคลาธิษฐาน เป็นวิธีการปรับเปลี่ยนส่วนที่ห่อหุ้มธรรม ได้แก่ โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก ความขัดแย้ง พัฒนาเรื่องเล่า มุมมองของการเล่าเรื่องด้วยเทคนิคการนำเสนอธรรมะที่เป็นนามธรรมให้เป็นรูปธรรมเพื่อเข้าถึงธรรมได้ง่ายขึ้นและทันต่อยุคสมัย และ ๒) ธรรมาธิษฐาน เป็นวิธีการสนับสนุนการเล่าเรื่องธรรมะโดยเน้นแก่นธรรมมากกว่า            ตัวหลักธรรมคำสอนล้วนและสื่อบารมีว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถกระทำได้ ทั้งนี้ ถึงรูปแบบจะเปลี่ยนไปเช่นไร ผู้สร้างภาพยนตร์ต้องไม่กระทบธรรมโดยการชักจูงให้ผู้ชมภาพยนตร์เกิดความเห็นผิดและทอดทิ้งธรรม จึงกระตุ้นให้คิดและนำเสนอชุดคำตอบของพื้นฐานชีวิตเพื่อพัฒนาปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่างๆของชีวิตโดยอาศัยแก่นธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นแก่นความคิดที่ไม่เปลี่ยนแปลง และ ยังคงนำมาใช้เป็นแนวทางของการดำเนินชีวิตได้เสมอ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕