หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาศุภวัฒน์ ชุติมนฺโต (สุขดำ)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๔ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่อง พฤติกรรมของมนุษย์ในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทกับ ซิกมันด์ ฟรอยด์(๒๕๔๘)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาศุภวัฒน์ ชุติมนฺโต (สุขดำ) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ
  อาจารย์สนิท ศรีสำแดง
  ดร. ชัยสิทธิ์ ทองบริสุทธิ์
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๘ บทคัดย่อ
 
บทคัดย่อ

       งานศึกษานี้ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาแนวความคิดเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ในทรรศนะพุทธปรัชญาเถรวาท และทฤษฎีซิกมันด์ ฟรอยด์ ๒) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบแนวคิดเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ในทรรศนะพุทธปรัชญาเถรวาทกับซิกมันด์ ฟรอยด์ และ ๓) เพื่อวิเคราะห์บทบาทและความสำคัญของพฤติกรรมที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตจากการศึกษาพบว่าพฤติกรรมในพุทธปรัชญาเถรวาท หมายถึง การแสดงออกทางกาย วาจา และสิ่งที่สืบเนื่องมาจากจิตที่อยู่ภายใน การแสดงออกมาทางกายภาพทั้งหมด เรียกว่า กายกรรม ทางวาจาเรียกว่าวจีกรรม และทางใจเรียกว่ามโนกรรมตามทฤษฎีตะวันตก ตั้งแต่ยุคกรีกซึ่งรุ่งเรืองทางความคิด มีความเชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม จำเป็นต้องมีพฤติกรรมสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทั้งที่สังเกตได้และไม่สามารถสังเกตได้ โดยนักคิดจิตนิยม ถือว่าจิตเป็นผู้คอยกำกับพฤติกรรม กลุ่มสัจนิยมเชื่อว่ามนุษย์ประกอบด้วยร่างกายและวิญญาณหรือจิตใจ ซึ่งเป็นกระบวนการทางกายภาพ เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แต่มนุษย์มีวิวัฒนาการทางจิตสำนึกที่สูงกว่า ขณะที่กลุ่มอัตถิภาวนิยม เชื่อในอิสรภาพของมนุษย์ในอันที่จะเลือกแสดงพฤติกรรมได้ นักจิตวิทยามนุษย์นิยม มีความเชื่อว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นผู้ใฝ่ดี พฤติกรรมที่เป็นปัญหาของบุคคล เกิดมีขึ้นเพราะสังคมและสิ่งแวดล้อมชักนำให้เป็นไป พฤติกรรมนิยม เชื่อว่ามนุษย์แรกเกิดมานั้นไม่ดีไม่ชั่ว ภายหลังจะเป็นไปตามสภาพแวดล้อมและทิศทางของการพัฒนาพฤติกรรม ที่ถูกกำหนดโดยการวางเงื่อนไขพุทธปรัชญาเถรวาทถือว่า พฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมาไม่ว่าจะอยู่ในที่เปิดเผยหรือในที่ลับ ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากบทบาทแห่งการกำหนดวิถีทางของชีวิตทั้งสิ้น ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ผลของพฤติกรรมจะมีการทำงานแบบลูกโซ่ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดแยกกันไม่ออก พฤติกรรมในอดีต ย่อมส่งผลต่อพฤติกรรมที่กำลังทำในปัจจุบันและทำในอนาคต ซึ่งจะกลับวนเวียนอยู่เช่นนี้ ตราบใดที่พฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออกมานั้นเป็นพฤติกรรมที่มีกิเลส และพฤติกรรมที่ชั่วย่อมก่อให้เกิดชีวิตในทางที่เป็นทุกข์ ส่วนพฤติกรรมที่ดีย่อมส่งผลต่อชีวิตในทางที่เป็นความสุขใจทางใจพฤติกรรมในทรรศนะของซิกมันด์ ฟรอยด์ หมายถึง การแสดงออกทางกายภาพทั้งหมดของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลทั่วไปและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสิ่งอื่นๆ ซึ่งมีทั้งทางดีและไม่ดี เช่น การเดิน การหัวเราะ การร้องไห้ ดีใจ เสียใจ เป็นต้น ตามทรรศนะของฟรอยด์พฤติกรรมเหล่านี้เกิดจากแรงขับสำคัญ ๒ ส่วน คือ
๑. โครงสร้างของจิต ประกอบด้วย
๑) จิตไร้สำนึก (Unconscious Mind )
๒) จิตกึ่งสำนึก (Subconscious Mind )
๓) จิตสำนึก (Conscious Mind )
๒. แรงขับพื้นฐาน (Basic Drive) ประกอบด้วย
๑) แรงขับที่จะดำรงชีวิตอยู่ (Life Instinct)
๒) แรงขับที่จะทำลาย (Death Instinct)
๓) แรงขับทางเพศ (Sexual Instinct)


     ทั้งพุทธปรัชญาเถรวาทและซิกมันด์ ฟรอยด์ เชื่อว่าพฤติกรรมที่มนุษย์แสดงออก ทั้งทางบวกและทางลบ ย่อมเกิดขึ้นได้แก่ทุกคนในทุกเวลาและทุกสถานการณ์ ธรรมชาติของการแสดงออกมาทางกาย ทางวาจามีจิตเป็นผู้คอยกำกับบงการให้พฤติกรรมเหล่านั้นเป็นไปในลักษณะต่าง ๆ ทั้งสองแนวคิดเชื่อว่า มนุษย์ที่มีองค์ประกอบของชีวิตคือร่างกายและจิตใจ ย่อมมีการกระทำ การแสดงออก การเคลื่อนไหว การเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่า ถ้ามนุษย์ในสังคมมีพฤติกรรมไปในทางที่สร้างสรรค์ ดีงามและเป็นไปตามทำนองคลองธรรม ย่อมได้รับประโยชน์ต่อวิถีชีวิตของตนเอง และสังคม กล่าวคือ
๑) ความสมบูรณ์หรือความดีงามทางด้านร่างกาย
๒) ความสมบูรณ์หรือความดีงามทางด้านจิตใจ
๓) ความสงบเรียบร้อยดีงามของสังคม
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อบุคคลมีพฤติกรรมไปในทางที่ดีงาม ถูกต้องตามครรลองคลองธรรมแล้ว ย่อมเอื้อต่อการพัฒนาสังคมของมนุษยชาติโดยรวมได้ง่ายยิ่งขึ้น อันเป็นพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความดีสูงสุดโดยไม่เอนเอียงไปในด้านใดด้านหนึ่ง และจะมีมาตรฐานทางจริยธรรม คอยกำกับความเป็นไปให้มีความเที่ยงตรง เมื่อมนุษย์มีพฤติกรรมเช่นนี้ ย่อมทำให้สังคมมนุษย์โดยรวมและปัจเจกบุคคลแต่ละคนไม่เกิดความหว้าเหว่และเดียวดายในการที่จะกระทำความดี มีกำลังใจและแรงจูงใจในการสร้างสรรค์ตัวเอง เป็นการส่งเสริมพัฒนาการทางจิตของปัจเจกบุคคล พร้อมกันนั้นก็ส่งเสริมการดำรงชีวิตในส่วนสังคม ได้อย่างมีสันติสุข

Download : 254856.pdf

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕