หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาวุฒิเมธส์ วุฑฺฒิเมโธ
 
เข้าชม : ๑๖๕๙๐ ครั้ง
ศึกษาคุณค่าของขันติที่ส่งเสริมการประพฤติมงคล ๓๘
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาวุฒิเมธส์ วุฑฺฒิเมโธ ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาประวัติและความเป็นมาของมงคลสูตรในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาขันติธรรมที่ปรากฏในมงคลสูตร และเพื่อศึกษาคุณค่าของขันติที่ส่งเสริมการประพฤติมงคล ๓๘  ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูล ทั้งจากแห่งปฐมภูมิและทุติยภูมิ เพื่อนำข้อมูลมาศึกษาวิเคราะห์

ผลการวิจัยพบว่า พระพุทธองค์ทรงตรัสเหตุแห่งความเจริญก้าวหน้าของชีวิต เรียกว่า “มงคล 38 ประการ” “มงคล 38” จึงเป็นแม่บทในการเทศน์สอนและการแต่งตำราตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่เมื่อประมาณ พ.ศ.๙๐๖ พระพุทธโฆษาจารย์แห่งอินเดีย ได้รจนาคัมภีร์อรรรถกถาชื่อปรมัตถโชติกาขึ้น พร้อมทั้งอธิบายเนื้อความในมงคลสูตร ต่อมา พ.ศ.๒๐๖๗ ท่านสิริมังคลาจารย์ พระมหาเถระแห่งล้านนาไทยได้รจนาคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ขึ้นเป็นภาษาบาลี ขยายความมงคลสูตรได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้เกิดคุณค่าทางวรรณกรรมที่ได้จากคัมภีร์มังคลัตถทีปนีนี้อย่างมากมาย

ขันติธรรมที่ปรากฏในมงคลสูตร คือ ความอดทน ต้องอดกลั้น หมายถึง ยับยั้งไม่ให้เกิดผลกระทบแก่จิตใจของเรา ได้แก่ ความอดทนต่ออารมณ์ของกิเลสที่มายั่วยวน ไม่แสดงอาการอยากได้  ความอดทนต่อความหนาว ความร้อน และความอดทนต่อการล่วงเกินของคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ต่ำกว่าเรา เป็นต้น

คุณค่าของขันติที่ส่งเสริมการประพฤติมงคล ๓๘ มีดังนี้ ๑) ให้คุณค่าระดับพื้นฐาน ได้แก่ ก) ด้านการฝึกตนให้เป็นคนดี มุ่งเน้นฝึกตนจากสิ่งแวดล้อม ข) ด้านการสร้างความพร้อมในการฝึกตน มุ่งเน้นการสร้างความพร้อมให้ตัวเองสร้างชีวิตให้มีเป้าหมาย ค) ด้านการฝึกตนให้เป็นคนมีความสามารถ  มุ่งสร้างตนให้เป็นผู้มีประโยชน์ที่ใครๆ ต้องการ ง) ด้านการบำเพ็ญประโยชน์ต่อครอบครัว  มุ่งเน้นให้สร้างครอบครัวที่ดี  จ) ด้านการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม  มุ่งเน้นการช่วยเหลือส่วนรวม ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่ใคร  ๒) ให้คุณค่าระดับกลาง  ก) ด้านการปรับสภาพใจให้สงบ   มุ่งเน้นการปรับสภาพใจให้พร้อม เพื่อจะฝึกใจให้รองรับคุณธรรมมากขึ้น  ข) ด้านการแสวงหาธรรมะเบื้องต้นให้ตน มุ่งเน้นให้ตัวเองศึกษาธรรมะ ไม่อวดดื้อถือดี ไม่เบ่ง  มีความสันโดษ รู้จักพอ ค) ด้านการแสวงหาธรรมะเบื้องสูงให้ตน   มุ่งเน้นให้ตัวเองศึกษาธรรมะเบื้องสูงขึ้นไป ให้เป็นผู้ว่าง่าย น้อมรับฟังด้วยดี เพื่อเพิ่มพูนปัญญา  ๓) ให้คุณค่าระดับสูง  ได้แก่  ก) ด้านการฝึกปฏิบัติให้กำจัดกิเลสหมดไป  มุ่งเน้นการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อกำจัดกิเลส  ข) ด้านผลจากการปฏิบัติจนหมดกิเลส  ทำให้จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม จิตไม่โศก มีจิตเกษม มีความสุข มีใจที่สะอาดผ่องใสบริสุทธิ์

ในมงคล 38 ประการนี้ ขันติธรรมมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงในการประพฤติปฏิบัติตามมงคล 38 จนเกิดคุณค่าด้านต่างๆ แสดงให้เห็นว่า ชีวิตที่ดีตามแนวทางมงคล 38 มีขันติธรรมส่งเสริมเกื้อกูลทุกขั้นตอน ทั้งระดับพื้นฐาน ระดับกลาง และระดับสูง เพื่อพัฒนาชีวิตให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไปจนถึงพระนิพพาน

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕