หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » รตน ธัมมเมธา
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๐ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ความเป็นพุทธมามกะในสังคมไทย
ชื่อผู้วิจัย : รตน ธัมมเมธา ข้อมูลวันที่ : ๐๙/๐๒/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาทวี มหาปญฺโญ
  เสนาะ ผดุงฉัตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์นี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ผู้วิจัยมีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาวิเคราะห์        ความเป็นพุทธมามกะในสังคมไทย โดยตั้งวัตถุประสงค์ในการทำวิจัย ดังนี้  ๑) เพื่อศึกษาความเป็นมาและวิธีปฏิบัติของพุทธมามกะในสมัยพุทธกาล  ๒) เพื่อศึกษาความเป็นมาและวิธีปฏิบัติของ         พุทธมามกะในสังคมไทย  ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความเป็นพุทธมามกะในสังคมไทย

 

ผลการศึกษาพบว่า  ดังต่อไปนี้

 

สมัยพุทธกาล ผู้เลื่อมใสพระพุทธเจ้า เปล่งวาจาประกาศตน ขอถึงพระพุทธเจ้า          พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ มีความยึดมั่นในพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอันประเสริฐยิ่งกว่าสิ่งอื่นทั้งปวง เรียกว่า อุบาสก อุบาสิกา การเข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ มี ๒ แบบ คือ แบบโลกุตตระ หมายถึง ผู้เข้าถึงมีจิตเข้ากระแสพระนิพพาน เปลี่ยนจากปุถุชนบุคคล เป็นอริยบุคคล  และแบบโลกิยะ หมายถึง ผู้เข้าถึงมีจิตศรัทธาเชื่อในพระรัตนตรัยอย่างมั่นคง หลักปฏิบัติของอุบาสก อุบาสิกา คือ คุณธรรม ๕ ประการ ได้แก่  ๑) เป็นผู้มีศรัทธา  ๒) เป็นผู้มีศีล  ๓) เป็นผู้ไม่ถือมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ๔) เป็นผู้ไม่แสวงหาทักขิไณยนอกพระพุทธศาสนา  ๕) เป็นผู้บำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนา     อุบาสก อุบาสิกา ผู้ประกอบด้วยคุณธรรม ๕ ประการนี้  เรียกว่าเป็น อุบาสกแก้ว หากอุบาสก อุบาสิกาปฏิบัติในทางตรงกันข้าม ได้แก่  ๑) เป็นผู้ไม่มีศรัทธา  ๒) เป็นผู้ทุศีล  ๓) เป็นผู้ถือมงคล    ตื่นข่าว ไม่เชื่อกรรม  ๔) เป็นผู้แสวงหาทักขิไณยนอกพระพุทธศาสนา  ๕) เป็นผู้ไม่บำเพ็ญบุญ        ในพระพุทธศาสนา เรียกว่าเป็น อุบาสกน่ารังเกียจ(อุบาสกเศร้าหมอง)

 

ปัจจุบัน ในสังคมไทยมีทั้งผู้ประกาศตนเป็นพุทธมามกะ และผู้ไม่ประกาศตนเป็น       พุทธมามกะ ผู้ยังไม่ประกาศตนขอถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่จัดว่าเป็นพุทธมามกะ        หลักปฏิบัติของพุทธมามกะ ว่าโดยย่อ  คือ โอวาทปาฏิโมกข์ ได้แก่  ๑) ละการทำความชั่วทั้งปวง     ๒) ทำความดีให้ถึงพร้อม  ๓) หมั่นทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ ผ่องใส เบิกบาน

ความเป็นพุทธมามกะในสังคมไทย ผู้วิจัยพบว่า พุทธศาสนิกชนไทย ยังเข้าไม่ถึง        หลักอุบาสกธรรม ทั้ง ๕ ประการ ได้แก่  ๑) ศรัทธา คือ ควรเชื่อในพระรัตนตรัย เชื่อกรรม แต่กลับไปเชื่อสิ่งอื่นที่ไม่ควรเชื่อ เป็นศรัทธานอกหลัก เป็นศรัทธาผิด  ๒) ศีล คือ แม้จะมีการสมาทานศีลแล้ว แต่ยังมีการฆ่าสัตว์ทำร้ายสัตว์, ลักขโมย, นอกใจคู่ครอง (มีกิ๊ก), พูดเท็จ และยังดื่มสุรากัน  ๓) การถือมงคลตื่นข่าว คือ ให้เชื่อมงคลที่แท้จริง คือการปฏิบัติตนตามธรรม บูชาคนที่ควรบูชา มีบิดามารดา          ผู้มีพระคุณ เป็นต้น  แต่กลับไปหลงเชื่อคำโฆษณา ตื่นข่าวคุณวิเศษอันไม่มีมูลความจริง ทำให้เกิด          ความเดือดร้อน เสียทรัพย์มากมายโดยใช่เหตุ  ดังตัวอย่าง ตุ๊กตาลูกเทพวิเศษ มีการแสวงหาเช่าซื้อ           และนำมาเลี้ยงดูอุ้มชูเหมือนลูก   ๔) ทักขิไณยนอกพระพุทธศาสนา คือ แม้จะเปล่งวาจานับถือ        พระรัตนตรัยแล้ว ยังไปแสวงหาเจ้าพ่อ เจ้าแม่ เทพยดาผู้วิเศษในลัทธิอื่นๆ มีการทำพิธีกรรมสารพัดสะเดาะเคราะห์ แก้กรรม เสริมโชคลาภให้ร่ำรวย  ต่ออายุสืบชะตาราศีต่างๆ  ๕) การบำเพ็ญบุญ     ในพระพุทธศาสนา คือ ให้ศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม ด้วยหลักทาน ศีล ภาวนา หรือ หลักไตรสิกขา  (ศีล สมาธิ ปัญญา) แต่ชาวพุทธในสังคมไทยนิยมทำทานอย่างเดียว ไม่นิยมรักษาศีล ไม่นิยม      ศึกษาธรรมปฏิบัติภาวนา เพื่อให้เกิดปัญญา

 

ดังนั้น พุทธมามกะในสังคมไทย ควรศึกษาเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ใคร่ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา เพื่อให้เป็น พุทธมามกะที่ดี            มีความเป็นพุทธมามกะที่สมบูรณ์พร้อมด้วยคุณธรรม ๕ ประการ   

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕