หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูศรีปริยัติวิสิฐ (สุพิน ธมฺมวิริโย)
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๙ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ภาวะผู้นำของพระราชวิจิตรโมลี (บุญมี ปริปุณฺโณ) วัดท่าหลวง จังหวัดพิจิตร
ชื่อผู้วิจัย : พระครูศรีปริยัติวิสิฐ (สุพิน ธมฺมวิริโย) ข้อมูลวันที่ : ๐๒/๐๓/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชวชิรเมธี
  ประพัฒน์ ศรีกูลกิจ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

             ผลการศึกษาวิจัยเรื่องการศึกษาวิเคราะห์ภาวะผู้นำของพระราชวิจิตรโมลี   (บุญมี  ปริปุณฺโณ) วัดท่าหลวง จังหวัดพิจิตรมีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับภาวะผู้นำและภาวะผู้นำเชิงพุทธ (๒) เพื่อศึกษาภาวะผู้นำของพระราชวิจิตรโมลี   (บุญมี   ปริปุณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดท่าหลวงพระอารามหลวง (๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้หลักภาวะผู้นำของพระราชวิจิตรโมลี (บุญมี ปริปุณฺโณ) ดำเนินการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งใช้การวิจัยเอกสาร และการสัมภาษณ์กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๐ รูป/คน วิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบทผลการวิจัยพบว่า

 

             ๑) ผู้นำมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จขององค์การ เพราะผู้นำคือผู้ที่มีอำนาจหน้าที่หรือผู้ที่มีความสามารถที่ดีและเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับ โดยสามารถที่จะประสานชักจูงหรือโน้มน้าวผู้อื่นให้ค้นหาหนทางที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ ที่กำหนดให้อย่างมีความกระตือรือร้น และเป็นการผูกมัดหรือหลอมรวมกลุ่มเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วกระตุ้นให้ผู้อื่นทำตามให้ดำเนินไปสู่จุดเป้าหมายได้ผู้นำตามแนวพระพุทธศาสนา ได้แก่พระพุทธเจ้า ผู้นำของพระพุทธศาสนาเป็นบุคคลที่ประกอบด้วยคุณสมบัติที่ดีทั้งภายนอกคือมีบุคลิกภาพที่ดี มีความสง่างาม คุณสมบัติภายใน        คือ มีความรู้มีศีลธรรม มีคุณธรรมจริยธรรม มีธรรมประจำตัวทรงสั่งสอนแนะนำพาสมาชิกในองค์กร คือพุทธบริษัท ๔ ไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงอันเป็นจุดหมายอันสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาคือพระนิพพาน

             ๒) ภาวะผู้นำของพระราชวิจิตรโมลี (บุญมี ปริปุณฺโณ)  เจ้าอาวาสวัดท่าหลวง พระอารามหลวง ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ผู้วิจัยเห็นว่า ท่านเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ที่ทรงธรรม ทรงวินัย มากด้วยเมตตาวิหารธรรม เป็นผู้ที่บำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสังคม เอาใจใส่ต่องานพระพุทธศาสนามาโดยตลอด โดยเฉพาะด้านการศึกษา และด้านสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น  ซึ่งแสดงถึงความมีภาวะผู้นำขอพระสงฆ์อย่างแท้จริง ตามธุระภาระงาน ตามบทบาทพระสังฆาธิการ แบ่งออกเป็น ๖ ด้าน คืองานการปกครองคณะสงฆ์ ท่านพระราชวิจิตรโมลี (บุญมี ปริปุณฺโณ) ปกครองคณะสงฆ์แบบพ่อปกครองลูก สามัคคีธรรม โดยยึดหลักพระธรรมวินัยหลักศีลสามัญญตาในการปกครอง และยังต้องอิงอาศัยกฎระเบียบมาเถรสมาคม ด้านการศาสนศึกษา และ การศึกษาสงเคราะห์ ได้ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของพระภิกษุ สามเณร ให้ศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งแผนกธรรม แผนกบาลี แผนกสามัญศึกษา มีการมอบทุนการศึกษา ตั้งกองทุนเพื่อการศึกษาของพระภิกษุสามเณร ตลอดจนถึงเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปด้านการเผยแผ่ ได้จัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาทุกวันพระและวันสำคัญทางศาสนา มีการส่งเสริมการเผยแผ่หลักธรรมเชิงรุกโดยส่งพระนักเทศน์ไปแสดงพระธรรมเทศนาและสอนศีลธรรมในโรงเรียนยังสถานที่องค์กรต่างๆ เช่น โรงเรียน สถานที่ราชการหลายแห่ง ด้านงานการสาธารณูปการและงานการสาธารณสงเคราะห์ ท่านได้ก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุ เสนาสนะ ในวัดและนอกกัดจำนวนมาก ซึ่งเป็นประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนา และสังคมเป็นอย่างมาก

             ๓) การนำเสนอการประยุกต์ใช้ภาวะผู้นำของพระราชวิจิตรโมลี (บุญมี ปริปุณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดท่าหลวงพระอารามหลวง ท่านนำมาใช้ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ โดยส่งเสริมให้พระสงฆ์ปฏิบัติตามหน้าที่พระธรรมวินัย กฎ ระเบียบ ของมหาเถรสมาคม โดยที่ไม่ขัดต่อหลักของพระธรรมวินัยผู้นำ องค์กรคณะสงฆ์ทุกระดับสามารถนำ ภาวะผู้นำของพระราชวิจิตรโมลี (บุญมี ปริปุณฺโณ)        เจ้าอาวาสวัดท่าหลวง พระอารามหลวง ที่ได้จาก        การศึกษามาประยุกต์ใช้ในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ด้านวิสัยทัศน์ พบว่า ท่านเป็นพระมหาเถระที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลทั้งด้านตัวบุคคล คือพระภิกษุสามเณร ให้มีความรู้ความสามารถทั้งทางโลกและทางธรรม เพื่อพัฒนาทั้งตนเอง ครอบครัว ชุมชน ด้านพระพุทธศาสนา ท่านเห็นว่าการที่พระภิกษุสามเณรได้รับการศึกษา เป็นผู้มีความรู้ความสามารถจักได้ช่วยเกื้อกูลในการดำรงพระศาสนาให้วัฒนาถาวรได้ ด้านอุปนิสัยส่วนตัว ท่านเป็นผู้มีจิตเมตตา เป็นพระมหาเถระที่ทรงพระธรรมวินัย ยึดพระธรรมและความถูกต้องเป็นใหญ่ มีปฏิปทาที่น่ายกย่องเลื่อมใส เป็นที่เคารพรักทั้งพระภิกษุ สามเณร และอุบาสกอุบาสิกา พร้อมทั้งได้ดำเนินตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ในด้านการบริหารคณะสงฆ์ทั้ง ๖ ด้านพบว่า ท่านได้ใช้หลักธรรมภาวะผู้นำที่ดีกล่าวคือ รู้จักการใช้หลักอธิปไตย ๓ หลักพรหมวิหาร ๔ ในด้านการปกครอง ใช้หลักสังคหวัตถุ ๔ในด้านการศาสนศึกษา ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ด้านการเผยแผ่ด้านสาธารณูปการ ด้านสาธารณสงเคราะห์ ใช้หลักพละ ๕ ในด้านการศึกษาและการเผยแผ่ นอกจากนี้ ยังใช้หลักสาราณิยธรรม ๖ ที่สนับสนุนภาวะผู้นำ ในด้านการปกครอง ส่งผลให้เกิดความเสมอภาคในองค์กร, การใช้หลักทิศ ๖ ในด้านการปกครอง การศึกษาและการเผยแผ่ ทำให้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา, การใช้หลักอปริหานิยธรรม ๗ ในด้านการปกครอง ส่งผลให้การบริหารงานและบริหารคน ของคณะสงฆ์มีความราบรื่น, การใช้หลักสัปปุริสธรรม ๗ เป็นการบูรณาการความรู้ ศักยภาพ และความฉลาดในการบริหารได้อย่างเหมาะสมกับยุคโลกาภิวัตน์ จะทำให้องค์กรคณะสงฆ์สามารถดำเนินกิจกรรมของคณะสงฆ์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรได้ด้วยดี

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕