หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอธิการมานพ มนาโป (เกตุมณี)
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๖ ครั้ง
การปฏิบัติต่อสภาวะจิตของผู้ใกล้ตายในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระอธิการมานพ มนาโป (เกตุมณี) ข้อมูลวันที่ : ๐๒/๐๓/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชวชิรเมธี
  อานนท์ เมธีวรฉัตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             งานวิจัยเรื่อง การปฏิบัติต่อสภาวะจิตของผู้ใกล้ตายในพระพุทธศาสนาเถรวาท        มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาจิตกับความตายในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาวิธีการปฏิบัติต่อผู้ใกล้ตายในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อเสนอแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ใกล้ตายในพระพุทธศาสนาเถรวาท ผลการวิจัยพบว่า

             ๑. จิตกับความตายในพระพุทธศาสนาเถรวาท ความหมายและสภาพทั่วไปของจิต “จิต” หมายถึง ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ สภาพที่นึกคิด ความคิด ใจ แตกต่างโดยหน้าที่ สัมพันธ์กับร่างกายแยกจากกันไม่ได้ มีหลายประเภท แบ่งเป็น ๘๙ ดวง หรือ ๑๒๑ ดวง สภาวลักษณะของจิตมีเพียง ๑ เป็นไปใน ๓ ลักษณะเป็นนามธรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จำแนกได้ ๔ ภูมิ สภาวะจิตของผู้ใกล้ตายย่อมเกี่ยวข้องกับเหตุที่ทำให้ความตายปรากฏ ๔ อย่าง จิตดวงสุดท้าย เรียกว่า จุติจิต เป็นจิตสุดท้ายแห่งปัจจุบันภพ มีกรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ และคตินิมิตอารมณ์เป็นอารมณ์ ปฏิสนธิจิต คือ หน้าที่ของจิตที่เกิดขึ้นต่อไปในภพใหม่ ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นสืบ ๆ กันต่อไป หมุนเวียน ตั้งชาติ ตั้งภพ ตามลำดับหน้าที่ของปุถุชนและพระเสขบุคคลทั้งหลายที่ยังต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ใน ๓๑ ภูมิ

             ๒. วิธีการปฏิบัติต่อผู้ใกล้ตายในพระพุทธศาสนาเถรวาท “ผู้ใกล้ตาย” หมายถึง ผู้ป่วยใกล้ตาย หรือคนชราใกล้ตายไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ขณะที่จิตดวงสุดท้ายที่จะเคลื่อนออกจากภพนี้เกิดขึ้น มีนิมิตอารมณ์ ๓ ประการอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏ ในเวลา ๑-๒ นาที หรือ ๑-๒ ชั่วโมง เรียกว่า ผู้ใกล้จะตาย และภายในไม่ถึง ๑๐ วินาที หรือ ไม่ถึง ๒๐ วินาที เรียกว่า ผู้ใกล้จวนตาย วิธีการปฏิบัติ คือ การปฏิบัติทางกายและทางใจต่อผู้ใกล้ตาย

             ๓. แนวทางการปฏิบัติต่อผู้ใกล้ตายในพระพุทธศาสนาเถรวาทมีหลายวิธีแต่ละวิธีมุ่งหมายชักนำจิตให้น้อมเป็นกุศล เสนอไว้เป็นแนวทางอยู่ ๖ วิธี ได้แก่ ๑) วิธีการให้ความรักและความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ตาย ๒) วิธีการช่วยให้จิตใจของผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ตายจดจ่อกับสิ่งดีงามสิ่งที่เป็นกุศล ๓) วิธีการช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ตายยอมรับความตายที่จะมาถึง ๔) วิธีการช่วยปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจของผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ตาย ๕) วิธีการช่วยให้ผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ตายปล่อยวางในสิ่งต่าง ๆ โดยไม่ยึดมั่นถือมั่น และ ๖) วิธีการสร้างบรรยากาศให้เกิดความสงบ

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕