หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอธิการวงศ์แก้ว วราโภ (เกษร)
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๙ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ปัจฉิมโอวาทในมหาปรินิพพานสูตร
ชื่อผู้วิจัย : พระอธิการวงศ์แก้ว วราโภ (เกษร) ข้อมูลวันที่ : ๑๓/๐๓/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ประยูร แสงใส
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

             สารนิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อศึกษาปัจฉิมโอวาทในมหาปรินิพพานสูตรและเพื่อวิเคราะห์ปัจฉิมโอวาทในมหาปรินิพพานสูตรเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพประเภทวิเคราะห์เอกสาร

             ผลการศึกษาพบว่า

             ความเสื่อมของสังขารได้แก่  ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งรวมแล้วเรียกว่า ความเสื่อม ตามนัยพระอภิธรรมท่านจำแนกโดยพิสดาร การจำแนกโดยสภาวะ เช่น รูป ๔ ได้แก่ อาหารชรูป กัมมชรูป อุตุชรูป จิตตชรูป และความไม่ประมาท  ได้แก่  ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ หรือความระมัดระวังที่จะไม่ทำเหตุแห่งความผิดพลาดเสียหายและไม่ละเลยโอกาสที่จะทำเหตุแห่งความดีงามและความเจริญในการทำหน้าที่ (ไม่ประมาทในสังขาร) ย่อมทำให้มีผลหรือได้รับประโยชน์ ๔ ประการ คือ (๑) รู้เท่าทันความจริงของสังขาร (๒) เป็นการเตือนตนไม่ให้ประมาท (๓) ไม่ทุกข์ใจเพราะสังขารทั้งหลาย (๔) ได้ประสบความสุขในชีวิต การรู้เท่าทันความจริงหรือความเปลี่ยนแปลงของสังขาร  คือสังขารทั้งหลายมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่คงอยู่ในสภาพเดิม ไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามที่ปรารถนาได้ หากผู้ปฏิบัติพิจารณาถึงความเสื่อมสลายของสังขารทั้งหลายได้ ก็จะทำให้รู้เท่าทันความเป็นจริง ไม่เกิดความยึดมั่นถือมั่นที่เป็นเหตุแห่งทุกข์  เป็นการเตือนตนไม่ให้ประมาท  คือความประมาทเป็นเหตุแห่งความผิดพลาด ความพลั้งพลาดทั้งหลาย คนประมาทจึงประสบทุกข์อยู่เสมอ

สังขารมี ๒ ประเภท คือรูปและนาม ในขันธ์ ๕ หมายเอาสังขารที่เป็นสภาพปรุงแต่งจิตใจ ส่วนสังขารทั้งที่มีใจครองและไม่มีใจครองหมายเอาสังขารในไตรลักษณ์ อย่างไรก็ตามย่อมมีความหมายครอบคลุมถึงสังขารที่เป็นรูปในขันธ์ ๕ ด้วย เพราะเป็นไปในอำนาจของไตรลักษณ์เหมือนกัน ความเสื่อมสลายของขันธ์ ๕ สามารถอธิบายได้ในมิติของการกำหนดอายุ ๑๐๐ เป็นเกณฑ์คือภายใน ๑๐๐ ปี มนุษย์ย่อมตายหรือเสื่อมสลายไปในขณะที่อยู่ในครรภ์ช่วงใดช่วงหนึ่งคือ กลละ (น้ำใส ) อัพพุทะ (น้ำล้างเนื้อ) เปสิ (ชิ้นเนื้อ) ฆนะ (ก้อนเนื้อ) หรือปัญจสาขา (๕ ปุ่ม คือมือ ๒ เท้า ๒ ศีรษะ ๑) ตายในขณะคลอดบ้าง ตายในช่วงอายุเพียงครึ่งเดือน ๑ เดือน จนถึง ๑๐ เดือนบ้าง ตายในช่วงอายุ ๑ ปีจนถึง ๑๐๐  ปีบ้าง หากจะมีอยู่เกิน ๑๐๐ ปีไปก็มีบ้างเหมือนกันแต่ไม่มาก ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า สัตว์ที่เกิดมาแล้วมีภัยจากความตายอยู่เป็นนิจ ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายทั้งเด็ก ผู้ใหญ่  โง่ และฉลาดทั้งหมด เวลาจะตายใคร ๆ ก็ขอร้องให้มีชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้ ทุกอย่างย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งนั้น ขันธ์ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่ออาพาธ (ความเสื่อม) ดังนั้นจึงได้ชื่อว่าไม่เที่ยง เพราะขันธ์ ๕ ไม่เที่ยง ดังนั้นจึงเป็นทุกข์ และเพราะไม่เที่ยงและเป็นทุกข์ จึงมีความแปรผันเป็นธรรมดา ไม่ควรที่จะยึดมั่นโดยความเป็นตัวตนหรือเห็นว่าเป็นเรา ของเรา กล่าวเฉพาะรูปขันธ์ในขันธ์ ๕ รูปมีทุกข์ประจำสังขารคือเกิด แก่ เจ็บ ตาย เมื่อมีเกิดก็มีแก่ ภาวะที่จัดว่าเป็นความแก่ เช่น ฟันหลุด ผมหงอก หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ เหล่านี้คือความเสื่อมของกายสังขาร เมื่อมีความแก่ก็มีความตายหรือความจุติ ความเคลื่อนไป ความทำลายไป ความตาย ความแตกสลายไปแห่งขันธ์ ๕ ความขาดสูญแห่งชีวิตินทรีย์ของเหล่าสัตว์ ทั้งหมดนี้คือความเสื่อมและความทุกข์ที่เกิดจากสังขาร

 ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕