หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูจารุเขมากร [ถาวร ถาวโร (สังวราภรณ์)]
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๖ ครั้ง
ศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเจริญวิปัสสนาภาวนาในอนุมานสูตร
ชื่อผู้วิจัย : พระครูจารุเขมากร [ถาวร ถาวโร (สังวราภรณ์)] ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมลักษณ์ คนฺธสาโร
  เวทย์ บรรณกรกุล
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

                วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาเนื้อหาและหลักธรรมในอนุมานสูตร เพื่อศึกษาหลักธรรมของผู้เจริญวิปัสสนาภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน และเพื่อศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเจริญวิปัสสนาในอนุมานสูตร โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกาและเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น เรียบเรียง บรรยาย ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

                อนุมานสูตร เป็นพระสูตรที่พระธรรมสังคาหกาจารย์ รวบรวมร้อยกรองไว้ในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรค  โดยมีที่เป็นสาระสำคัญที่ทรงแสดงไว้ในหลักธรรมในอนุมานสูตร คือ ผู้ว่าง่ายสอนง่ายนั้น มี ๑๖ วิธี โดยหลักพื้นฐานแล้ว ต้องเป็นผู้สามารถข่มใจตัวเองได้ มีความเคารพอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่โกรธ และมีปัญญา เพื่อละทิฏฐิมานะอันเป็นอุปสรรคต่อธรรมที่ว่าด้วยความเป็นผู้ว่าง่าย ส่วนกรณีตัวอย่างของความเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ที่เห็นได้ชัดเพื่อสำหรับประยุกต์ใช้กับสังคมปัจจุบัน ต่อการปฏิบัติให้ถึงสมควรแก่ธรรมจนถึงที่สุดบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะธรรมนั้นเป็นเหตุแห่งการบรรลุคุณ คือการละโทษได้ ซึ่งเป็นกุญแจไขไปสู่ความดีต่าง ๆ มากมาย และสามารถนำบุคคลนั้นไปสู่ความหลุดพ้นได้

                การเจริญวิปัสสนาภาวนา คือ การเจริญสติเพื่อให้เกิดปัญญาญาณหยั่งรู้รูป-นาม โดยวิธีการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔  การฝึกสติโดยให้ตั้งมั่นในฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน   การกำหนดรู้กองรูปว่าเป็นเพียงกองรูป  เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน   การตามรู้ทันเวทนา  เป็นการกำหนดรู้เวทนาว่าเป็นเพียงเวทนา  จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน  การตามรู้ดูทันจิต คือ จิตของตนในขณะนั้น ๆ  ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน  การตามดูรู้ทันธรรม คือ การกำหนดรู้สภาวธรรมว่าเป็นเพียงสภาวธรรม  กาย เวทนา จิต และธรรมเหล่านี้  ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา ของเรา  บุรุษหรือสตรี และมีสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่สวยงาม โดยจำแนก เป็นสภาวะเห็น ได้ยิน เป็นต้น

                จากการศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเจริญวิปัสสนา ในอนุมานสูตร พบว่า เป็นพระสูตรที่แสดงข้อความที่เปรียบเทียบตนกับผู้อื่น ซึ่งเป็นการอนุมานตน โดยหลักธรรมที่ปรากฏดังกล่าว เป็นหลักของเจริญความเพียรเพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เช่น ความโกรธ ความริษยา ความมีมายาโอ้อวด เป็นต้น  ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเจริญวิปัสสนา คือ สัมมัปปธาน ๔ และ ปธานิยังคธรรม ๕ ประการ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕