หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาประเทือง สิริคุตฺโต (บุญเลิศ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๖๑ ครั้ง
ศึกษาการพิจารณาอินทรีย์ ๖ เพื่อให้เกิดปัญญาในการเจริญวิปัสสนาภาวนา
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาประเทือง สิริคุตฺโต (บุญเลิศ) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาชิต ฐานชิโต
  สุเทพ พรมเลิศ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาอินทรีย์ ๖ ในคัมภีร์-
พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาปัญญาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาการพิจารณา
อินทรีย์ ๖ เพื่อให้เกิดปัญญาในการเจริญวิปัสสนาภาวนา โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และเอกสารคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น จากการเรียบเรียงบรรยาย และตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญจากการศึกษา พบว่า

             อินทรีย์ ๖ ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท หมายถึง เครื่องหมายของความเป็นใหญ่
อันพระผู้มีพระภาคผู้เป็นใหญ่ ทรงแสดง ทรงเห็นแล้ว ประเภทอินทรีย์ ๖ ได้แก่ จักขุนทรีย์
โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ และมนินทรีย์ ความสำคัญของอินทรีย์ ๖ นี้ คือ
เป็นเหตุให้บรรลุธรรม และเป็นเหตุให้จิตหลุดพ้น เป็นต้น การสำรวมอินทรีย์ ๖ นั้น สามารถสำรวมตามหลักปธาน ๔ ตามหลักอินทรียสังวร และการมีสติสัมปชัญญะ เป็นต้น อานิสงส์แห่งการสำรวมอินทรีย์ ๖ นั้น คือ ภาวะซึ่งทำให้เกิดสติสังวร ปาฏิโมกขสังวร ไม่ให้โอกาสแก่มารมากล้ำกรายได้ ตลอดถึงเป็นเหตุให้อยู่เป็นสุขในปัจจุบันของพระอริยเจ้า เป็นต้น

             ปัญญาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท หมายถึง ความรู้ทั่ว ความรู้ชัด การวิจัย
ความเลือกเฟ้น ความสอดส่องธรรม เรียกว่า ธี บ้าง เรียกว่า มันตา บ้าง ซึ่งหมายถึง สัมมาทิฏฐิ ญาณอันสัมปยุตด้วยกุศลจิต ได้ชื่อว่า ปัญญา ซึ่งหมายถึง รู้ทั่ว ได้แก่ รู้โดยประการต่างๆ วิเศษกว่าอาการที่รู้จัก (สัญญา) และอาการที่รู้แจ้ง (วิญญาณ) ส่วนปัญญานั้น รู้จำ รู้แจ้ง และรู้แทงตลอด (ปฏิเวธ) ได้แก่ ส่งให้ถึงความปรากฏขึ้นแห่งมรรคได้ โดยอาการที่รู้ชัด อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และส่งผลให้บรรลุธรรมสูงสุดถึงพระนิพพาน

             การพิจารณาอินทรีย์ ๖ เพื่อให้เกิดปัญญาในการเจริญวิปัสสนาภาวนา คือ การรู้ชัดในอายตนะทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ได้แก่ เมื่อเห็นรูปด้วยตาแล้วเกิดความชอบใจ ไม่ชอบใจ ให้รู้ชัดสภาวะที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงด้วยอำนาจลักษณะ ๓ มี อนิจจลักษณะ เป็นต้น สามารถพิจารณาเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างแจ่มแจ้ง จนมีปัญญามองเห็นความจริงได้

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕