หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูอุเทศวิสาลธรรม (สุชาติ สุภาจาโร)
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๖ ครั้ง
ศึกษาหลักธรรมในการเจริญวิปัสสนาภาวนาในสัมมาทิฏฐิสูตร
ชื่อผู้วิจัย : พระครูอุเทศวิสาลธรรม (สุชาติ สุภาจาโร) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระศรีสุทธิเวที
  จรูญ วรรณกสิณานนท์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาเนื้อหาและหลักธรรมในสัมมาทิฏฐิสูตร เพื่อศึกษาอารมณ์วิปัสสนากรรมฐานในสัมมาทิฏฐิสูตร และเพื่อศึกษาแนวทางการเจริญวิปัสสนา ในสัมมาทิฏฐิสูตร โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือพระไตรปิฎกอรรถกถา และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาเรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ผลการศึกษาพบว่า

             สัมมาทิฏฐิสูตร เป็นพระสูตรที่ปรากฏในคัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ว่าด้วย เรื่องความเห็นชอบ เป็นชื่อของปัญญามีลักษณะที่รู้แจ้งตามความเป็นจริงอย่างแจ่มแจ้ง ไม่หลงใหลไปตามอารมณ์ที่กระทบในทางทวาร ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ มีความใส่ใจอย่างดีแยบคายต่อการกระทบนั้นเป็นเหตุใกล้โดยในพระสูตร แสดงถึงหลักธรรมทั้งหมด ๑๖ อย่าง เน้นความสำคัญที่ว่าผู้มีสัมมาทิฏฐิจึงรู้แจ้งชัดในความทุกข์และความดับทุกข์ได้ตามเหตุปัจจัยการเกิดดับของปฏิจจสมุปบาท และการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ในอริยสัจจนเกิดการหยั่งรู้ชอบ และหลุดพ้นชอบในที่สุด

             อารมณ์วิปัสสนากรรมฐาน ในสัมมาทิฏฐิสูตร หมายถึง อารมณ์ที่เป็นเครื่องยึดหน่วงจิตใจ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ หรือถูกรับรู้ เรียกว่า อารมณ์ ๖ ซึ่งได้แก่ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธรรมารมณ์ ซึ่งสงเคราะห์ย่อลงเหลือ เพียงรูปนาม ที่เป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่สัตว์ตัวตน บุคคล เรา เขา หลักธรรมในสัมมาทิฏฐิสูตร มีอกุศลและกุศล อาหาร เป็นต้น ล้วนเป็นอารมณ์ในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งสิ้น

          จากการศึกษาแนวทางการเจริญวิปัสสนาในสัมมาทิฏฐิสูตรพบว่า หลักธรรมทั้งปวงล้วนแสดงการเกิดดับของรูปนามไว้อย่างชัดเจน ในการปฏิบัตินั้นเป็นการกระทำด้วย การใช้สติระลึกรู้อารมณ์ที่มากระทบแล้วดับสลายไปในขณะปัจจุบันตรงนั้นเหมือนกันทุกทวาร เช่น จักษุและรูป กระทบกันทำให้เกิดจักขุวิญญาณเป็นต้น ในการศึกษาครั้งนี้ จึงได้ศึกษาแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนาโดยมีปฏิจจสมุปบาทเป็นอารมณ์ ดังที่ทรงแสดงไว้ว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงเกิดเวทนา เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงเกิดตัณหานี้คือสายเกิดทุกข์ และเพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ เพราะเวทนาดับตัณหาจึงดับ เป็นต้น นี้คือสายดับทุกข์ ทำให้เกิดปัญญาจนมรรคบริบูรณ์ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น เมื่อละกิเลสได้แล้ว และกิเลสที่เหลืออยู่ สามารถรู้แจ้งแทงตลอด บรรลุถึงอริยมรรค อริยผล และนิพพานในที่สุด

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕