หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูนนทธรรมาภิมุข (ผิน อชิโต)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๖ ครั้ง
ศึกษาวิปัสสนาภาวนาเพื่อการรู้แจ้งพระนิพพานในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระครูนนทธรรมาภิมุข (ผิน อชิโต) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๔/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชโมลี
  ชัยชาญ ศรีหานู
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท  เพื่อศึกษาพระนิพพานในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท  และเพื่อศึกษาวิปัสสนาภาวนาเพื่อการรู้แจ้งพระนิพพาน โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เรียบเรียง บรรยาย ตรวจสอบ โดยอาจารย์ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

             หลักคำสอนเรื่องวิปัสสนาภาวนามีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเป็นวิธีฝึกจิตเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์คือการรู้แจ้งพระนิพพาน เพื่อให้เกิดปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง การเจริญภาวนาหรือการปฏิบัติกัมมัฏฐานในพระพุทธศาสนา มีอยู่ ๒ ประการ คือ (๑) สมถภาวนาหรือสมถกัมมัฏฐาน คือการฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ ได้แก่ การทำจิตใจให้เป็นสมาธิตั้งมั่นไม่หวั่นไหวด้วยนิวรณ์ (๒) วิปัสสนาภาวนา หรือวิปัสสนา คือการฝึกอบรมจิต เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งอริยสัจ ทั้งสองอย่างต่างเป็นปัจจัยสนับสนุนซึ่งกัน

             พระนิพพานในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท คือ อสังขตธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิสังขาร คือ สภาวะที่พ้นจากขันธ์ทั้ง ๕ หมายถึงสภาพที่หมดสิ้นราคะ สิ้นโทสะ และสิ้นโมหะ เมื่อว่าโดยปรมัตถ์ ผู้บรรลุนิพพานถือว่าเป็นผู้สิ้นกิเลสอย่างสิ้นเชิงมีจิตหลุดพ้นจากภาระใด ๆ แบบโลก เป็นอิสระ และมีความสุขสงบอย่างแท้จริง     

             การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาเพื่อการรู้แจ้งพระนิพพานตามแนวของพระพุทธศาสนาเถรวาท ได้แก่ การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาตามแนวสติปักฐาน ๔ เพื่ออบรมจิตให้มีปัญญาจนถึงมรรคจิต ซึ่งจะเป็นตัวพิจารณาความเกิดและความเสื่อมแห่งรูปและนาม และรู้เห็นความเป็นจริงในอริยสัจ มรรคญาณจะทำหน้าที่กำหนดรูปและนามว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์และเป็นอนัตตาหรือสัมผัสกับสรรพสิ่งในลักษณะเพียงเกิดและดับ ณ เวลาปัจจุบัน   และการทำภาวนาเพื่อออกจากทุกข์ขึ้นอยู่กับความแก่กล้าของอินทรีย์ในแต่ละบุคคล เมื่อจิตรู้รูปนามตามความเป็นจริงตามอริยสัจแล้ว จิตก็จะไม่เกี่ยวเกาะในสังขารทั้งหลายและเข้าถึงการรู้แจ้งที่เรียกว่า ความดับ ซึ่งเป็นภาวะของจิตที่ปราศจากราคะ หรือเรียก ตามอาการของมรรคญาณที่เข้าไปดับตัณหาทั้งหลาย ได้โดยเด็ดขาดว่า นิโรธ  แปลว่า ความดับทุกข์ ได้แก่ ความระงับจากสังขารทั้งปวง ความสลัดทิ้งอุปธิ ทั้งหมด  ความสิ้นตัณหา  ความคลายกำหนัด ความดับกิเลส  ความเย็นสนิท  จนเป็นการรู้แจ้ง โดยสภาวธรรม โดยอาการแห่งการบรรลุธรรมนี้ หมายถึง สภาวะของจิตที่เข้าถึงมรรคญาณ ๔ อันได้แก่ โสดาปัตติมรรคญาณ สกทาคามิมรรคญาณ  อนาคามีมรรคญาณ  และอรหัตมรรคญาณ การปฏิบัติเช่นนี้ย่อมเป็นไปเพื่อการรู้แจ้งพระนิพพานซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเถรวาท

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕