หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระพงศักดิ์ อภิชฺชโว (รุ่งสง)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๖ ครั้ง
ศึกษาบทบาทสื่อจิตรกรรมฝาผนังในการเผยแผ่พุทธธรรมในพระพุทธศาสนา : ศึกษาเฉพาะกรณี พระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(๒๕๔๙)
ชื่อผู้วิจัย : พระพงศักดิ์ อภิชฺชโว (รุ่งสง) ข้อมูลวันที่ : ๒๒/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ธรรมนิเทศ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาต่วน สิริธมฺโม
  รศ.กิติมา สุรสนธิ
  รศ.กิติมา สุรสนธิ
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙
 
บทคัดย่อ

     งานวิจัยชิ้นนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาในแง่ของบทบาทสื่อจิตรกรรมฝาผนังในเผยแผ่พุทธธรรมในพระพุทธศาสนา โดยที่เลือกศึกษาในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นที่นิยมยกย่องว่า เป็นภาพที่มีความงดงามและสามารถถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมของไทยได้อย่างสมบูรณ์แบบเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเผยแผ่พุทธศาสนาที่ผู้วิจัยได้สนใจต้องการที่จะศึกษาถึงหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนังและต้องการทราบถึงบทบาทของภาพจิตรกรรมฝาผนังในฐานะที่เป็นสื่อว่า มีบทบาทต่อการเล่าเรื่องราวในการกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกที่มีต่อพุทธศาสนาและการกระทำที่ดีของบุคคลได้อย่างไรโดยการศึกษาครั้งนี้ ผู้ศึกษาได้ทำการศึกษาจากเอกสารและจากความคิดเห็นของผู้ที่เข้าชมภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถดังกล่าว ซึ่งจากการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลพบผลที่สำคัญ คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในฐานะสื่อมีบทบาทในการถ่ายทอดเรื่องราวทางพุทธศาสนาให้แก่ผู้ชมได้ และสามารถทำให้ผู้ชมรู้สึกซาบซึ้งกับภาพและเรื่องราวทางพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดีแต่ในการนำไปปฏิบัติพบว่าอาจจะยังมีผลอยู่ค่อนข้างน้อย เป็นเพียงสื่อที่อาจมีบทบาทในการกระตุ้นหรือเสริมเท่านั้น เมื่อศึกษาถึงเนื้อหาธรรมที่ปรากฏอยู่บนฝาผนังพบว่า การนำเสนอเรื่องราวและประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนาโดยการเล่าเรื่องของพระสาวก ทั้ง ๔๑ องค์พร้อมทั้งยังมีเรื่องมโหสถชาดก โดยภาพเหล่านี้ได้สื่อหลักธรรมให้เข้าใจด้วยการเล่าเรื่องพระสาวกผู้ได้รับการยกย่องจากพรพุทธเจ้าว่าเลิศในด้านต่าง ๆ เช่น ภาพห้องที่ ๒๐ เป็นการเล่าเรื่องของพระอุรุเวลกัสสปะ ภาพนี้ได้สื่อเรื่องพรหมวิหารธรรม อันเป็นธรรมสำหรับผู้บริหารใช้ในการปกครองดูแลบริวารให้มีความสุข ซึ่งประกอบด้วย ความมีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา และภาพเหนือบานประตูและหน้าต่าง เป็นการเขียนเล่าเรื่องมโหสถบัณฑิต เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า การใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ กล่าวคือ ปัญญาในทัศนะของชาดกเรื่องนี้หมายถึงผู้ที่สามารถมองเห็นทั้งสิ่งที่เห็นได้ง่าย ๆ และสิ่งที่ซ่อนอยู่ลึกซึ้งกว่านั้น ถึงสิ่งที่เป็นเหตุและผลที่จะตามมา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้ เป็นต้นสำหรับผลการศึกษาวิจัยในความคิดเห็นของผู้เข้าชมครั้งนี้ พบว่า นักเรียนและนักศึกษาที่เข้ามาชมภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยลักษณะทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง โดยส่วนมากมีช่วงอายุต่ำกว่า ๒๐ ปี มีระดับการศึกษามัธยมศึกษาและปริญญาตรี ความรู้ทางพระพุทธศาสนาและความสนใจภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง และยังให้ความสำคัญมากในการเผยแผ่พุทธธรรมของภาพจิตรกรรม ฝาผนัง ก่อนหน้านี้เคยเข้าชมภาพจิตรกรรมฝาผนังไทยโบราณมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๓ ครั้งและเข้าชมภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลรามเป็นครั้งแรกเป็นส่วนใหญ่ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทสื่อจิตรกรรมฝาผนังในการเผยแผ่พุทธธรรมในพระพุทธศาสนา ๑๖ ข้อนั้น พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทสื่อจิตรกรรมฝาผนังในการเผยแผ่พุทธธรรมโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยที่เพศชายและเพศหญิง อายุต่ำกว่า ๒๐ ปีและ ๒๑ – ๒๕ ปี การศึกษามัธยมศึกษาและปริญญาตรี มีความคิดเห็นว่า สื่อจิตรกรรมฝาผนังมีบทบาทในการเผยแผ่พุทธธรรมโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากเหมือนกัน สำหรับผู้ที่มีความรู้ในระดับน้อย ปานกลาง ค่อนข้างมาก และมาก ความคิดเห็นว่า สื่อจิตรกรรมฝาผนังมีบทบาทในการเผยแผ่พุทธธรรมโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากเหมือนกัน
Download : 254921.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕