หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสุชาติ จิตฺตสุโภ (ทิมมานพ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๑ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์บทบาทของพระอินทร์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู กับพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระสุชาติ จิตฺตสุโภ (ทิมมานพ) ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๕/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ศาสนาเปรียบเทียบ)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชสิทธิมุนี
  แสวง นิลนามะ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ  ๑) เพื่อศึกษาบทบาทของพระอินทร์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ๒) เพื่อศึกษาบทบาทของพระอินทร์ในพุทธศาสนาเถรวาท และ ๓) เพื่อศึกษาเปรียบเทียบบทบาทของพระอินทร์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูกับพุทธศาสนาเถรวาท ผลการวิจัยพบว่า 

พระอินทร์ในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู เกิดจากความเชื่อในความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติว่าสรรพสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจักรวาลนี้มีผู้สร้าง โดยในยุคแรกมีความเชื่อว่าพระอินทร์เป็นเทพเจ้าผู้สร้างสรรพสิ่งในโลก มีความเป็นนักรบผู้สามารถ มีสายฟ้าเป็นอาวุธ ช่วยขจัดภัยอันตรายต่าง ๆ แก่มวลมนุษย์ได้ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกษัตริย์ในโลกมนุษย์ที่ให้ความปกป้องคุ้มครองราษฎร์ให้อยู่เย็นเป็นสุข ต่อมายุคพราหมณะ พระอินทร์ถูกลดบทบาทลงให้มีอำนาจเพียงเทพอารักษ์ เพราะมีพฤติกรรมไม่เหมาะแก่ความเป็นเทพเจ้าผู้สูงสุด เช่น การชอบดื่มน้ำโสม การเป็นผู้มักมากในกามคุณ การชอบขโมย เป็นต้น ถึงกระนั้น พระอินทร์ยังมีอิทธิพลในความเป็นเทพแห่งสงคราม ซึ่งได้รับการบูชาจากกษัตริย์เช่นเดิม

ตามคติทางพุทธศาสนาเถรวาท  พระอินทร์เกิดด้วยบุญบารมีของตนที่สร้างในครั้งเป็นมนุษย์ และตำแหน่งพระอินทร์มีวันหมดวาระ พระอินทร์จึงมีการผลัดเปลี่ยนกันไป นอกจากเรื่อง พระอินทร์ที่ปรากฏในฐานะของผู้อภิบาลพุทธศาสนาแล้ว ในอดีตชาติได้ประกอบแต่กุศลกรรม เมื่อสิ้นอายุขัยไปแล้วจึงไปเกิดเป็นพระอินทร์  ซึ่งทำให้เห็นถึงบุคลาธิษฐานของพระอินทร์ที่ถูกกำหนดไว้ในเรื่องของการประกอบกุศลกรรมและให้ทาน แม้เป็นพระอินทร์แล้วก็ยังคงประกอบกุศลกรรมอย่างต่อเนื่อง

พระอินทร์ทั้งสองศาสนามีสิ่งที่เหมือนกัน คือ ทรงดำรงฐานะเป็นจอมเทพและมิได้ครองตำแหน่งอย่างถาวร แต่มีการเปลี่ยนไปตามวาระ ผู้อื่นก็อาจจะเป็นพระอินทร์ได้ และเรื่องท้าวสักกะในพุทธศาสนาก็มีมาภายหลังพระอินทร์ในศาสนาพราหมณ์ ด้วยเหตุที่พระอินทร์เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวอารยัน และเป็นเทพที่ได้รับความนับถือมาแต่เดิม ฉะนั้น เมื่อมีพุทธศาสนาเกิดขึ้นในอินเดีย ความนิยมกล่าวถึงเทพองค์นี้ก็ยังมีอยู่  เพียงแต่ผิดเพี้ยนกันไปบ้าง คือ กล่าวถึงในแง่ที่ดี เป็นไปตามความเชื่อทางพุทธศาสนา กำเนิดท้าวสักกะซึ่งเกิดขึ้นโดยการบำเพ็ญความดี จึงเป็นการส่งเสริมหลักการของพุทธศาสนา ซึ่งต่างจากพระอินทร์ในศาสนาพราหมณ์ที่เกิดขึ้นด้วยการประกอบอกุศลกรรม มีการทำพิธีอัศวเมธเพื่อให้ได้ตำแหน่งพระอินทร์เป็นต้น การศึกษาประวัติของท้าวสักกะจึงเป็นแรงจูงใจให้คนได้ทำความดีตามแบบอย่างของท้าวสักกะ อย่างน้อยก็มีสวรรค์สมบัติเป็นเป้าหมายซึ่งไม่ผิดหลักการของพุทธศาสนาแต่อย่างใด

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕