หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระจินดา ฉนฺทธมฺโม (สามี)
 
เข้าชม : ๑๖๕๘๘ ครั้ง
ศึกษาราคจริตในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระจินดา ฉนฺทธมฺโม (สามี) ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  -
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๗/มีนาคม/๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เล่มนี้ มีวัตถุประสงค์อยู่ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาจริตในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาหลักการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษา
ราคจริตในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในพุทธศาสนาเถรวาท โดยการศึกษาข้อมูลจากตำรา
พุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และตามตำราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วรวบรวมข้อมูล เรียบเรียง บรรยายเชิงพรรณนาและตรวจสอบความถูกต้อง โดยอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนา

ผลการศึกษาพบว่า จริต เป็นหลักธรรมหมวดหนึ่ง ที่มีองค์ประกอบพื้นฐานใน
การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งบุคคลในแต่ละจริตย่อมมีพฤติกรรมเฉพาะที่แตกต่างกันไปตามจริต คือ (๑) ราคจริต ผู้มีความประพฤติหนักไปทางรักสวยรักงาม (๒) โทสจริต ผู้มีความประพฤติหนักไปในทางใจร้อน หงุดหงิด โกรธง่าย (๓) โมหจริต ผู้มีความประพฤติหนักไปทางเขลา เหงาซึม เงื่องงง งมงาย (๔) สัทธาจริต ผู้มีความประพฤติหนักไปทางมีจิตซาบซึ้ง ชื่นบาน น้อมใจเลื่อมใสโดยง่าย (๕) พุทธิจริตหรือญาณจริต ผู้มีความประพฤติหนักไปทางใช้ความคิดพิจารณา (๖) วิตกจริต ผู้มีความประพฤติหนักไปทางนึกคิดจับจด ฟุ้งซ่าน สาเหตุของการมีจริต มีสาเหตุมาจากความเคยชินในอดีต หรือจากกรรมที่เคยทำไว้ในอดีต

การมีสติที่เป็นสัมมาสติในองค์มรรคระลึกรู้ในฐานทั้ง ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เจริญวิปัสสนาเพื่อตามรู้ เห็นสภาวธรรมขันธ์ ๕ ว่าเป็นเพียงรูปกับนามเป็นอนัตตามิใช่ตัวตนบุคคล เรา เขาแต่ประการใด เห็นความแตกต่างของรูปกับนามที่มีความแปรเปลี่ยนเป็นนิจ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องมีจิต
จดจ่อสังเกตการณ์เกิดขึ้น และดับไปของรูปนามตลอดเวลา เอาชนะนิวรณ์ เพื่อลดละกิเลสได้แก่อุปาทานในขันธ์ ๕ ที่เนื่องมาจากความเห็นผิดทำให้เกิดอกุศลมูลต่างๆ ดังกล่าวมาแล้วเป็นเหตุให้เกิดความรักชอบชัง พยาบาท เบียดเบียน โลภ ฯลฯ บุคคลและสังคมมีความเดือดร้อนวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด และยังเป็นเหตุปัจจัยให้มีภพชาติใหม่ วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร แต่ถ้าปัจเจกบุคคลเห็นความสำคัญของการเดินตามสติปัฏฐาน ๔ ในขั้นแรกที่เป็นพื้นฐานก็จะบังเกิดสำนึกเบื้องต้นของความเป็นมนุษย์ คือการมีศีลเป็นพื้นฐาน ไม่เบียดเบียนไม่ทำร้ายผู้อื่น มีจิตเมตตาด้วยกายและวาจาใจ หรือความปรารถนาทางกามตัณหาทำให้อาจเอาใจไปผูกพันกับคู่ของผู้อื่น หากเมื่อพิจารณาแล้วจะทำให้ผู้อื่น

เจ็บปวดได้มากเพียงใดแล้วจะไม่กล้าทำและเพื่อเว้นจากความประมาทไม่ให้ศีลข้ออื่นด่างพร้อย นับว่าเป็นพื้นฐานเบื้องต้นในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

ดังนั้น ผู้มีราคจริตเมื่อเกิดกามราคะขึ้น ให้มีสติกำหนดรู้ เช่น มีราคะเกิดขึ้น ก็ให้รู้ชัดว่า มีราคะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีราคะ ในเวลาปฏิบัติจริง ๆ ในเมื่อราคะเกิดขึ้นให้ภาวนาโดยวิธีที่จะทันอารมณ์ปัจจุบัน ปักสติลงไปที่หทัยวัตถุเรียกว่า โยนิโสมนสิการ ทำไว้ในใจจนถึงที่เกิดของจิต เมื่อปฏิบัติถูกต้องตามหลักนี้แล้วจะได้ผลตามลำดับไปของสัจธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา คือถ้าศีล สมาธิ ปัญญาแก่กล้า สามารถจะเห็นความเกิดดับของรูปนามได้เป็นอย่างดี เมื่อเห็นความเกิดดับแล้วถ้าเพียรพยายามทำต่อ ๆ ไปสามารถจะเกิดวิปัสสนาญาณขึ้นไปโดยลำดับ ๆ จนถึงมรรคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณได้ ถ้ายังไม่ถึงก็จะทำให้ผู้ปฏิบัตินั้นได้ ตทังควิมุตติ วิกขัมภนวิมุตติ คือมีจิตหลุดพ้นจากกิเลสด้วยองค์ของวิปัสสนาภาวนานั้น และหลุดพ้นด้วยการข่มไว้ด้วยอำนาจของขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ตามลำดับ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕