หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมควร พุทฺธรกฺขิโต (ก้อนชัยภูมิ)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๑ ครั้ง
ศึกษาการละวิปลาสด้วยการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา
ชื่อผู้วิจัย : พระสมควร พุทฺธรกฺขิโต (ก้อนชัยภูมิ) ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสันติ นาควโร (สันติธรางกูร)
  สุเทพ พรมเลิศ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓/มีนาคม/๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาวิปลาสในคัมภีร์พุทธศาสนา
เถรวาท เพื่อศึกษาหลักการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา และเพื่อศึกษาการละวิปลาสด้วยการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป วิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

วิปลาส ความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ด้วยอำนาจของความสำคัญผิด คิดผิด เห็นผิด อันเป็นไปในความเข้าใจผิดในของไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในทุกข์ว่าเป็นสุข ในสภาพไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน อันเป็นเหตุก่อให้เกิดอกุศลกรรม ทำให้ข้องอยู่ในวัฏฏะ จิตเกี่ยวพันกับนิวรณ์ ทำให้ทิฏฐิวิบัติ ทำให้เกิดความหลง อันมีสาเหตุมาจากนิวรณ์ ๕ ความพอใจกาม ไม่กำหนดรู้ทุกข์ เข้าไปยึดถือ ไม่ตริตรองพิจารณาโดยแยบคาย วิปลาสจะไม่ครอบงำเฉพาะพระอรหันต์เท่านั้น

หลักการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา เป็นการปฏิบัติเพื่อให้เห็นสรรพสิ่งด้วยปัญญา กล่าวคือเห็นสภาพของไตรลักษณ์ ตามความเป็นจริง เพื่อทำลายอาสวะกิเลสให้หมดไป ซึ่งผู้ปฏิบัติต้องมีศีลบริสุทธิ์ตามอัตภาพของตนยังจิตให้บริสุทธิ์ จึงจะก้าวเข้าสู่วิปัสสนาภาวนา อันมี ๓ ประเภท คือ ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนามีสมถะเป็นเบื้องต้น ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนามีสมถะเป็นเบื้องปลาย และปฏิบัติวิปัสสนาภาวนากับสมถะไปพร้อม ๆ กัน การปฏิบัติวิปัสสนานี้ต้องอาศัยภูมิของวิปัสสนาเป็นอารมณ์ คือการที่จิตเข้าไปยึดเพื่อการพิจารณาให้เห็นนามรูป ด้วยสภาพของไตรลักษณ์ มี ๖ ประการใหญ่ ๆ คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท มีผลทำให้ผู้ปฏิบัติมีความรู้เป็นอย่างน้อย ทำให้มีการดำรงอยู่ของศาสนาพุทธเป็นท่ามกลาง มีการสิ้นอาสวะเป็นที่สุด

 

การละวิปลาสด้วยการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา มีวิธีการคือการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ กล่าวคือ การละสุภวิปลาสต้องปฏิบัติด้วยกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่เด่นชัดคือ มนสิการสิ่งที่เป็นปฏิกูลและป่าช้า ๙ การละสุขวิปลาสต้องปฏิบัติด้วยเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน การละนิจจวิปลาสต้องปฏิบัติด้วยจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และการละอัตตวิปลาสต้องปฏิบัติด้วยธัมมานุปัสสนาสติ-
ปัฏฐาน ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ นี้ ไม่ได้กำหนดพิจารณาพร้อมกัน เมื่อส่วนใดปรากฏเห็นเด่นชัด
ก็กำหนดพิจารณาภาวนาในส่วนนั้นจนจิตรู้แจ้งตามสภาพของความเป็นจริง

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕