หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางฐิติรัตน์ รักษ์ใจตรง
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๙ ครั้ง
ศึกษาการใช้อานาปานสติภาวนาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ของเสถียรธรรมสถาน
ชื่อผู้วิจัย : นางฐิติรัตน์ รักษ์ใจตรง ข้อมูลวันที่ : ๒๒/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  ผศ.ดร.สมภาร พรมทา
  ดร.วีระ วงศ์สรรค์
วันสำเร็จการศึกษา : ๕ เมษายน ๒๕๔๙
 
บทคัดย่อ

                       วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาหลักคำสอนตามหลัก อานาปานสติในพระไตรปิฎก และคัมภีร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การใช้อานาปานสติภาวนาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเสถียรธรรมสถาน
                       งานวิจัยครั้งนี้แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการศึกษาเอกสารด้วยการศึกษาหลักคำสอนในพระไตรปิฎก และคัมภีร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่ ๒ การศึกษาวิจัยการใช้อานาปานสติภาวนาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเสถียรธรรมสถาน และการวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของผู้เข้ารับการใช้อานาปานสติภาวนาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเสถียรธรรมสถาน ซึ่งฝึกสอนโดยแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุตผลการวิจัยพบว่าอานาปานสติภาวนาหรืออานาปานสติสมาธิ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมากกว่าวิธีเจริญสมาธิอื่นๆ อานาปานสติเมื่อทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ท่านได้ขยายความ อานาปานสติเป็นยอดแห่งกรรมฐาน เป็นภูมิธรรมแห่งมนสิการของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธบุตรที่เป็นมหาบุรุษ เท่านั้น


                         การศึกษาผู้ที่เข้าฝึกการใช้อานาปานสติภาวนาเพื่อพัฒนาชีวิตของ เสถียรธรรมสถาน ฝึกสอนโดยแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต การเปรียบเทียบคะแนนของพฤติกรรมก่อนและหลังการฝึกปฏิบัติอานาปานสติภาวนา เมื่อได้รับการฝึก อานาปานสติภาวนา จะสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นใน เกือบทุกด้าน เช่น คะแนนการดำเนินชีวิตภายในครอบครัวของผู้ปฏิบัติ ก่อน การปฏิบัติ = ๔.๐๓ หลังการปฏิบัติ = ๔.๕๖ คะแนนกลุ่มพฤติกรรมการให้อภัยผู้อื่น ที่ทำร้ายร่างกาย หรือด่าว่าเสียดสีทางวาจา ก่อนการปฏิบัติ = ๒.๘๐ หลังการ ปฏิบัติ = ๔.๐๘ เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่า หลังจากได้รับการฝึกปฏิบัติ อานาปานสติภาวนา ผู้ปฏิบัติสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตดีขึ้น


                         ผลงานวิจัยครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชน สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติตนตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ให้ถึงพร้อมทั้งการศึกษาด้านปริยัติ ปฏิบัติ และรับผลจากการปฏิบัติเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอันจะนำมาซึ่งความสุขต่อตนเอง ครอบครัว สังคมและมวลมนุษยชาติ

Download : 254928.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕