หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ยุพิน วัชรกาวิน
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๔ ครั้ง
การจัดการขยะมูลฝอยตามหลักพุทธธรรมของประชาชนเทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน(สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : ยุพิน วัชรกาวิน ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  วิชญ์พล ผลมาก
  พระครูภาวนาโสภิต
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

การศึกษาวิจัยเรื่อง การจัดการขยะมูลฝอยตามหลักพุทธธรรมของประชาชนเทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาการก่อเกิดและการพัฒนาการจัดการขยะมูลฝอยของประชาชนเทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ๒) เพื่อศึกษาการจัดการขยะมูลฝอยของประชาชนเทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน และ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยตามหลักพุทธธรรมของประชาชนเทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ศึกษาจากการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) ผู้วิจัยเลือกผู้ให้สัมภาษณ์ ๑๕ รูป/คน จากกลุ่ม  ผู้ที่ให้ข้อมูลสำคัญ (Key informants) คือ กลุ่มที่ ๑ ผู้มีคุณลักษณะเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความเข้าใจและมีประสบการณ์ตรงในการดำเนินงานของการจัดการขยะมูลฝอย จำนวน ๑๐ คน กลุ่มที่ ๒ นักวิชาการทางพระพุทธศาสนา จำนวน ๑ ท่าน และกลุ่มที่ ๓ ข้าราชการและประชาชนในพื้นที่ จำนวน ๔ คน

ผลการวิจัยพบว่า

๑. การก่อเกิดและการพัฒนาการจัดการขยะมูลฝอยของประชาชนเทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน เกิดจากบทบาทหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ และบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบกับการขยายตัวของความเจริญทางเศรษฐกิจ ร้านค้า ตลาดสด ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของขยะอย่างต่อเนื่อง และส่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง จึงเริ่มการรณรงค์อบรมให้ความรู้แก่ประชาชนในชุมชนเรื่องการจัดการขยะอย่างถูกวิธี โดยจัดทำโครงการ การจัดการขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง ในปีงบประมาณ ๒๕๕๘ และดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ ๒๕๕๙ เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้ในการจัดการกับขยะที่ถูกวิธี มีจิตสำนึกที่ดีในการรักษาความสะอาด

๒. การจัดการขยะมูลฝอยของประชาชนเทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน พบว่า มีการคัดแยกขยะภายในครัวเรือนก่อนนำขยะส่งให้รถขนขยะไปยังสถานที่กำจัดขยะ โดยใช้ถุงขยะสีดำกับถุงขยะสีแดง ถุงสีดำใช้ใส่ขยะประเภทเศษใบไม้ และขยะพลาสติก ซึ่งเศษใบไม้จะถูกคัดแยกออกไปหมักเป็นปุ๋ย และส่วนที่เป็นขยะพลาสติกจะถูกคัดแยกแล้วนำไปจัดจำหน่ายนำรายได้คืนสู่ครัวเรือน สำหรับถุงสีแดงใช้บรรจุประเภทขยะอันตรายนั้น ทางเทศบาลจะเป็นผู้นำไปจัดการอย่างถูกวิธี โดยไม่ให้เกิดสารพิษตกค้างแล้วส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมภายในชุมชน   ส่วนปัญหาที่พบคือ ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ขาดความเข้าใจ ขาดจิตสำนึก และความตระหนักในเรื่องการจัดการกับขยะที่ถูกวิธี ทั้งนี้ เกิดจากโครงการจัดการขยะมีประชาชนเข้าร่วมโครงการไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือร้อยละ ๘๐ ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด มีครัวเรือนเข้าร่วมเพียงร้อยละ ๒๘ เท่านั้น ดังนั้น เทศบาลตำบลทุ่งหัวช้างต้องรีบเร่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ด้วยการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะให้ครบตามเป้าหมาย

๓. แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยตามหลักพุทธธรรมของประชาชนเทศบาลตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน ด้วยหลักอิทธิบาท ๔ ด้านฉันทะนั้น ควรส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสภาพแวดล้อม จนกระทั่งเกิดความพึงพอใจที่จะจัดการขยะด้วยตนเอง ด้านวิริยะ ควรส่งเสริมให้ประชาชนมีความมุ่งมั่น มีความเพียรต่อการจัดการขยะ ด้านจิตตะคือหมั่นกระตุ้นเตือนให้ชุมชนเกิดจิตสำนึกรักชุมชน ให้ทราบถึงเป้าหมายของการจัดการขยะ     สร้างแรงจูงใจ และให้ขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติ ด้านวิมังสา คือ หมั่นตรวจสอบระบบการจัดการขยะ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วนำข้อบกพร่องต่างๆ มาปรับปรุงแก้ไข

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕