หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » บุญเพลิน ยาวิชัย
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๓ ครั้ง
วิถีครูบากับการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ในชุมชนบ้านห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน(สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : บุญเพลิน ยาวิชัย ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๘/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  วิชญ์พล ผลมาก
  นิกร ยาอินตา
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

   การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์  คือ ๑) เพื่อศึกษาวิถีครูบาในฐานะเป็นทุนทางวัฒนธรรม  ในชุมชนบ้านห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน  ๒) เพื่อศึกษาวิถีครูบากับการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง  ๓) เพื่อศึกษาคุณค่าเชิงจริยธรรมของวิถีครูบา ในฐานะเป็นเครื่องมือพัฒนาในชุมชนบ้านห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นการศึกษาโดยการใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์แบบเชิงลึก กับพระสังฆาธิการผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน ๑๘ รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา แล้วนำเสนอในรูปแบบพรรณนา

 

ผลการวิจัยพบว่า

   ๑. วิถีครูบาในฐานะเป็นทุนทางวัฒนธรรมวิถีครูบา  ในฐานะเป็นทุนทางวัฒนธรรม จากการศึกษาพบว่า วิถีครูบาในฐานะเป็นทุนทางวัฒนธรรม เป็นพื้นฐานให้เกิดแนวความคิดในการนำเอาวัฒนธรรมที่ดีงามมาพัฒนาให้เกิดคุณค่าและมูลค่า อันส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีงาม   ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านได้อบรมสั่งสอนให้ชาวเขาเคารพนับถือพระพุทธศาสนา ปฏิบัติตามแนวคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การปฏิบัติธรรมให้ดูเป็นตัวอย่าง สร้างอาชีพให้ชาวกะเหรี่ยง พร้อมที่ดินในการประกอบอาชีพเกษตรกรและที่อยู่อาศัย อยู่รวมกันเป็นชุมชน ท่านจึงได้สร้างผู้นำชุมชน เพื่อให้ง่ายต่อปกครอง ท่านได้เมตตาสร้างผังเมืองของชุมชนอย่างเป็นระเบียบ ทั้งระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า สาธารณูปโภคเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชุมชน   มีการสนทนาธรรมกับผู้นำชุมชนและเผยแผ่ธรรมะให้แก่ชาวกะเหรี่ยงโดยการเล่านิทานเพื่อให้ชาวบ้านได้รู้จักพิจารณาด้วยตนเองและทำให้ชาวบ้านได้เข้าใจหลักธรรมโดยวิธีธรรมชาติ        เพราะธรรมะ คือธรรมชาติ ซึ่งเป็นทุนทางวัฒนธรรม ที่ตรงตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา

   ๒. วิถีครูบากับการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ในชุมชนบ้านห้วยต้ม จากการศึกษาพบว่า ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา หลังจากที่ท่านได้เผยแผ่ธรรมะให้แก่ชาวกะเหรี่ยงด้วยการเล่านิทาน ท่านได้เผยแผ่พระพุทธศาสนามาโดย การเทศนา การอบรมศีลธรรม และการประพันธ์ผลงานการประพันธ์ที่โดดเด่น ในปัจจุบันท่านเป็นตัวอย่างในการกินเจหรืออาหารมังสวิรัติ ให้ทานสนับสนุนกองทุนวัด โรงเรียน โรงพยาบาล บูรณะศาสนสถาน เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจหลักธรรมมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการส่งเสริมอาชีพโดยการส่งตัวแทนในชุมชนเข้าไปเรียนด้านวิชาชีพต่างๆ กลับมาถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน จนสามารถผลิตเป็นแหล่งเรียนรู้อาชีพมากมาย อาชีพเสริมที่ทำรายได้ให้กับชุมชน ได้แก่ การทำเครื่องเงิน ทอผ้าด้วยมือ การแปรรูปจากผ้าทอ ตีเหล็ก  ขุดศิลาแลงและการจักสาน มีการพัฒนาจนเกิดเป็น ผลิตภัณฑ์ OTOP ของชุมชนที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าและนักท่องเที่ยว สร้างชื่อเสียงให้กับชุมชนจนถึงปัจจุบันนี้ ท่านได้สร้างผู้นำชุมชน เพื่อการปกครองในการพัฒนาชุมชนบ้านห้วยต้มในขณะเดียวกันท่านได้ใช้หลักธรรมพัฒนาจิตใจ เป็นหลักธรรมที่ใช้ในการพัฒนาให้ชุมชนเข้มแข็งต่อไป

๓. คุณค่าเชิงจริยธรรมของวิถีครูบา ในฐานะเป็นเครื่องมือพัฒนาในชุมชน จากการศึกษาพบว่า คุณค่าเชิงจริยธรรมของวิถีครูบา หมายถึง หลักปฏิบัติที่ ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ปฏิบัติโดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นแนวทางในการเผยแผ่ธรรม ควบคู่กับการพัฒนาชุมชนให้เกิดความเจริญทั้งทางด้านความคิด สติปัญญา และการดำรงชีวิต ที่มีหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นดั่ง เข็มทิศ นำทางชีวิตสู่ความเจริญ ที่ยั่งยืน เป็นคุณค่าเชิงจริยธรรมในทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ พรหมวิหาร 4 ศีล ๕ สังคหะวัตถุ ๔ อิทธิบาท 4 หลักการมีส่วนร่วมในประชาธิปไตย หลักความสามัคคีและเสียสละ หลักธรรมเหล่านี้ล้วนเป็นคุณค่าเชิงจริยธรรมที่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา นำมาพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

๔. ผลการสัมภาษณ์ พบว่า ผู้ให้ข้อมูลสำคัญส่วนใหญ่เน้น การบูรณาการหลักธรรมมาปรับใช้ในชุมชนบ้านห้วยต้มในโอกาสต่างๆ และชาวบ้านเกิดความภูมิใจที่มีทุนทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าคนในชุมชนบ้านห้วยต้ม ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขกับต้นทุนทางวัฒนธรรม ที่พวกเขามี ผู้นำชุมชนมีแนวทางการพัฒนา ชุมชนและองค์กรให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันได้อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรม และส่งเสริมอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน ทุกคนมีวิถีชีวิตเหมือนกันคือ จะทำงานกันทุกวัน หยุดทำงานในวันพระ หรือวันศีล พาครอบครัวมาร่วมทำบุญตักบาตรผัก ทุกคนที่ปฏิบัติตนรักษาศีล ภาวนา กินเจหรืออาหารมังสวิรัติ ล้วนมีความสุขบนคุณธรรมที่ดีงาม

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕