หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาอิศเรศ ฐิตจิตฺโต (สุขสวัสดิ์)
 
เข้าชม : ๑๖๕๘๘ ครั้ง
วิเคราะห์อวจนภาษาที่เป็นสื่อการสอนในทีฆนิกาย
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาอิศเรศ ฐิตจิตฺโต (สุขสวัสดิ์) ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๙/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  โสวิทย์ บำรุงภักดิ์
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๘ มกราคม ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             สารนิพนธ์เรื่อง วิเคราะห์อวจนภาษาที่เป็นสื่อการสอนในทีฆนิกาย มีวัตถุประสงค์ ๒ ข้อ คือ ๑.) เพื่อศึกษาเนื้อหาของอวจนภาษา ที่ปรากฏในทีฆนิกาย และ ๒.) เพื่อวิเคราะห์อวจนภาษาที่เป็นสื่อการสอนในทีฆนิกาย การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร ด้วยการศึกษาพระไตรปิฎก เอกสารวิชาการทางพระพุทธศาสนาและทฤษฏีกระบวนการสื่อสารด้วยอวจนภาษา แล้วนำเสนอผลการวิจัยด้วยการพรรณนาวิเคราะห์

             ผลการศึกษาผู้วิจัยได้ประยุกต์แนวคิดทฤษฎี มาวิเคราะห์ในคัมภีร์พระไตรปิฎก ได้ว่า            อวจนภาษา คือ ภาษาที่ไม่ใช่คำพูดแต่เป็นการแสดงท่าทางต่าง ๆ ที่พระพุทธองค์ทรงใช้เพื่อการสื่อสารควบคู่กับภาษาพูดมาแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งในปัจจุบันนักวิชาการ ได้แบ่งอวจนภาษาที่มีความเกี่ยวพันธ์กันได้ ๗ ประเภท คือ ๑.) เทศภาษา คือ การใช้พื้นที่และระยะห่างเพื่อการสื่อสาร ๒.) กาลภาษา คือ การใช้เวลาเพื่อการสื่อสาร ๓.) ภาษาท่าทาง คือ การแสดงกิริยาท่าทางต่าง ๆ เพื่อการสื่อสาร ๔.) กายภาพภาษา คือ การใช้รูปร่างหน้าตาเพื่อการสื่อสาร ๕.) สัมผัสภาษา คือ การใช้การสัมผัสทางกายเพื่อการสื่อสาร ๖.) ปริภาษา คือ ลักษณะของเสียงที่ใช้ในการสื่อสารและ ๗.) วัตถุภาษา คือ การใช้วัตถุสิ่งของเพื่อการสื่อสาร

             อวจนภาษาที่แสดงออกบางอย่างมีความคล้ายคลึงกัน บางอย่างมีความแตกต่างกัน ทั้งลักษณะของอวจนภาษาและความหมาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความแตกต่างกันของแต่ละสังคมวัฒนธรรม   อวจนภาษา สามารถบอกให้ทราบถึงลักษณะต่าง ๆ ของผู้แสดง เช่น สถานภาพ บุคลิกลักษณะภายนอก รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกภายใน แม้ศาสตร์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน เช่น ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยา แพทยศาสตร์ จิตวิทยา สามารถสืบค้นและศึกษาได้จากอวจนภาษา ในการสื่อสารเพื่อเผยแผ่ธรรมของพระพุทธองค์ จากลักษณะของอวจนภาษามีปรากฏ แตกต่างกันไปตามแต่ความเหมาะสมของผู้ฟัง อวจนภาษาที่มีปรากฏมากคือ ภาษาท่าทาง อวจนภาษาต่าง ๆ ที่พระองค์ทรงแสดง ทรงใช้เพื่อแทนคำพูดบ้าง เสริมคำพูดบ้าง เพื่อโน้มน้าวใจผู้ฟัง ให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา น้อมใจไปตามกระแสธรรมะที่พระองค์ทรงแสดง มีความสำคัญต่อการเผยแผ่ธรรมะในแง่เป็นกุศโลบายเพื่อเข้าหาผู้ฟัง ชักนำผู้ฟังเข้าสู่ความสนใจในเนื้อหาของธรรม

             ลักษณะการใช้พื้นที่ของพระพุทธองค์เป็นการบอกให้ทราบถึงความเป็นศาสดา เป็นการแสดงท่าทางหรืออิริยาบถ ทางกายภาพเป็นลักษณะของรูปร่างหน้าตา  การสัมผัสเป็นการสัมผัส        ทางกายเพื่อสื่อสารความรู้สึก คำพูดที่เป็นปริภาษาเป็นการสื่อแทนความเคารพนับถือ การใช้ที่ซ้ำคำเป็นการย้ำหรือซ้ำเนื้อความของเทศนา การแทนคำเป็นการแสดงออกเพื่อแทนคำพูด การเสริมคำพูดเป็นการช่วยให้เกิดความเข้าใจ และการเน้นคำเป็นไปเพื่อเน้นคำพูด ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาและทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพื่อประโยชน์แก่การสื่อสารและดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ต่อไป

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕