หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ศิริลักษณ์ วรไวย์
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๒ ครั้ง
การศึกษาธรรมโอสถในพระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : ศิริลักษณ์ วรไวย์ ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๙/๒๐๑๗
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  โสวิทย์ บำรุงภักดิ์
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๐ /กุมภาพันธ์ /๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             สารนิพนธ์เรื่อง การศึกษาธรรมโอสถในพระพุทธศาสนา มีวัตถุประสงค์ ๒ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาธรรมโอสถในพระพุทธศาสนา  และ ๒) เพื่อวิเคราะห์ธรรมโอสถกับการรักษาโรคในพระพุทธศาสนา การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร ด้วยการศึกษาพระไตรปิฎก เอกสารวิชาการทางพระพุทธศาสนาและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แล้วนำเสนอผลการวิจัยด้วยการพรรณนาวิเคราะห์

             ผลการศึกษา ธรรมโอสถคือ ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ทรงบัญญัติไว้เพื่อใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจเมื่อยามเจ็บป่วย โดยใช้หลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เพื่อให้มีสติกำหนดรู้ในปัจจุบันขณะ การรู้จักปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง เข้าใจความจริงของชีวิต การชำระจิตใจให้สะอาด สงบ ปราศจากกิเลสทั้งปวงโดยมุ่งสู่มรรคผลนิพพานในที่สุด ธรรมโอสถของพระพุทธเจ้ามุ่งชำระที่จิตใจเป็นสำคัญเมื่อมีจิตใจที่ดีงาม เข้มแข็งและสงบแล้วก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายในทางที่ดีไปด้วยทำให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถบรรเทาอาการที่เจ็บป่วยหรือรักษาโรคให้ทุเลาลงหรือหายไปได้ ธรรมโอสถที่พบในพระไตรปิฎกได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ สมาธิ สัญญา ๑๐ ไตรลักษณ์ พรหมวิหาร ๔ พระรัตนตรัย            

             พระพุทธองค์ได้นำธรรมโอสถมาใช้ในยามเจ็บป่วยโดยใช้กับ พระองค์เอง พระพุทธสาวก และคฤหัสถ์ แตกต่างกันไป วิธีการรักษาโดยใช้การสวดหรือสาธยายธรรมให้ผู้ป่วยฟัง และผู้ป่วยจะต้องน้อมจิตเข้าไปพิจารณาตามบทธรรมนั้นๆ ในขณะที่ฟัง ส่วนโรคที่ใช้ธรรมโอสถรักษานั้นไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าป่วยเป็นโรคอะไรจะกล่าวโดยรวมว่า “เป็นไข้หนัก หรือ อาพาธหนัก”เท่านั้น  ในกรณีของพระพุทธองค์ และพระพุทธสาวกนั้นหลังจากได้ฟังธรรมจบแล้วอาการที่อาพาธหนักก็หายไปในทันที ซึ่งบุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นพระอริยบุคคลทั้งสิ้น ส่วนคฤหัสถ์นั้น หลังจากฟังธรรมจบมีทั้งหายจากโรค สิ้นชีวิตลงอย่างสงบ และบรรลุธรรมขณะตาย ในปัจจุบันได้มีพระสงฆ์ไทยหลายรูป ที่ได้นำธรรมโอสถมาประยุกต์ใช้ในการดูแลตนเองเมื่อยามอาพาธหนัก ทำให้โรคทุเลาและหาย ดังเช่น พระพุทธทาสภิกขุ หลวงพ่อชา สุภทฺโท พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นต้น หลักสำคัญของธรรมะพุทธองค์ คือ การละบาป หมั่นทำความดี ทำจิตใจให้ใสบริสุทธิ์ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การมุ่งสู่มรรคผลนิพพาน และการได้นำหลักธรรมโอสถมาใช้ในการดูแลสุขภาพตนเองในยามเจ็บป่วยยังเกิดประโยชน์มากมาย ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕