หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสุวรรณปิยโสโภณ (มิตรขัย ปิยวณฺโณ)
 
เข้าชม : ๑๖๕๙๔ ครั้ง
การบริหารงานของเจ้าอาวาสในตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี (การจัดการเชิงพุทธ)
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสุวรรณปิยโสโภณ (มิตรขัย ปิยวณฺโณ) ข้อมูลวันที่ : ๐๓/๐๒/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาบุญเลิศ อินฺทปญโญ
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒ มีนาคม ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

              การวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) เพื่อศึกษาระดับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการบริหารวัดของเจ้าอาวาสในตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการบริหารวัดของเจ้าอาวาสในตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี จำแนกปัจจัยตามส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรค  และข้อเสนอแนะ ในการบริหารวัดของเจ้าอาวาสในตำบลทุ่งคอกอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ประชาชนทั่วไปในเขตตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน ๑๘๔ คน ซึ่งผู้ศึกษาทำการวิจัยแบบผสม (Mixed Method) โดยใช้ระเบียบวิธีเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) การทดสอบค่าที (t – test) และค่าเอฟ (f – test) โดยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) การวิเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ ใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis Technique)

              ผลการวิจัย พบว่า

              ๑. ประชาชนมีระดับความคิดเห็นต่อการบริหารวัดของเจ้าอาวาสในตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓.๙๒)

              ๒. ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบการบริหารวัดของเจ้าอาวาสในตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยจำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล โดยภาพรวม พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มี อาชีพ ประสบการณ์ในการทำงาน ที่ต่างกัน มีระดับความคิดเห็นต่อการบริหารวัดของเจ้าอาวาสในตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มี เพศ อายุ สถานภาพ และการศึกษา มีระดับความคิดเห็นต่อการบริหารวัดของเจ้าอาวาสในตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้

              ๓. ปัญหา อุปสรรคเกี่ยวกับการบริหารวัดของเจ้าอาวาสในตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี พบว่า มีการรวมศูนย์กลางการปกครองไปที่เจ้าอาวาสเพียงผู้เดียว ทำให้ในบางครั้งการดูแลอาจไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร โรงเรียนพระปริยัติธรรมมีสถานที่ไม่เหมาะสม บรรยากาศไม่สงบ ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ เนื่องจากใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน ซึ่งในบางโอกาสต้องใช้เป็นสถานที่ให้ประชาชนต้องใช้ในการบำเพ็ญกุศล การแจกทุนการศึกษาที่ไม่เป็นธรรมขาดเทคนิคและวิธีการในการนำเสนอให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกวัย เกิดประโยชน์ไม่เต็มที่ ข้อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุงแก้ไข ผู้ปกครองทุกระดับชั้น ควรลงพื้นที่เพื่อดูแล ให้คำปรึกษา และบำรุงขวัญกำลังใจแก่ผู้ใต้ปกครอง ห้องเรียนพระปริยัติธรรมแยกออกเป็นเอกเทศเพื่อใช้จัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมโดยเฉพาะ กระจายทุนศึกษาสงเคราะห์ให้เข้าถึงผู้ที่มีความเหมาะสมอย่างแท้จริง มีการฝึกอบรมและเลือกวิธีการนำเสนอในการเผยแผ่ที่สามารถกระตุ้นและเร้าความสนใจแก่ประชาชนทุกวัย ขอความช่วยเหลือจากส่วนราชการหรือองค์กร ประสานงานความร่วมมือกับส่วนราชการหรือองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นในการสงเคราะห์คนในชุมชน

             ๔. แนวทางในการส่งเสริมการบริหารวัดของเจ้าอาวาสในตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยภาพรวม พบว่า การปกครอง ถือเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารจัดการงานคณะสงฆ์ หากการปกครองล้มเหลว ก็ไม่สามารถจะดำเนินการด้านอื่นๆ ทั้งทางด้านการศึกษา การเผยแผ่ หรือการสงเคราะห์ต่างๆ ให้ประสบความสำเร็จได้ เจ้าอาวาสซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการบริหารจัดการวัด จึงต้องเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ จึงจะทำให้การปกครองเป็นไปได้ด้วยดี ต้องให้ความสำคัญกับการศาสนศึกษาให้มาก ซึ่งภาระหนักนี้เจ้าสำนักเรียน ต้องกวดขันเรื่องนี้ ในการจัดการศึกษาประเภทนี้ ต้องมุ่งเน้นไปที่การสอดแทรกเกี่ยวกับการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชน และต้องใช้โอกาสปลูกฝังความรักพระพุทธศาสนา เพื่อให้สามารถจรรโลงพระศาสนาต่อได้ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ผ่านมาเน้นเชิงรับเป็นหลัก หากบูรณาการเป็นรูปแบบของการก่อสร้างสมัยใหม่ แต่ก็มิได้รักษามรดกทางวัฒนธรรมไว้ก็ไม่เป็นการสมควร คำสอนในทางพระพุทธศาสนาควรให้ประชาชนนำไปใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์และความสุขแก่ตนได้

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕