หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ประทิน แสงไทย
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๘ ครั้ง
รูปแบบการเสริมสร้างพลังศักยภาพสตรีเพื่อพัฒนาชุมชน ตามหลักพุทธธรรม
ชื่อผู้วิจัย : ประทิน แสงไทย ข้อมูลวันที่ : ๑๒/๐๒/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชปริยัติกวี (สมจินต์ สมฺมาปญฺโญ)
  พระมหาพรชัย สิริวโร (ศรีภักดี)
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๑ มกราคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ 

ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง รูปแบบการเสริมสร้างพลังศักยภาพสตรีเพื่อพัฒนาชุมชน ตามหลักพุทธธรรม มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิด ทฤษฎี การเสริมสร้างพลังศักยภาพสตรีเพื่อพัฒนาชุมชนตามศาสตร์สมัยใหม่  ๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมในการเสริมสร้างพลังศักยภาพสตรีเพื่อพัฒนาชุมชน และ ๓) เพื่อนำเสนอรูปแบบการเสริมสร้างพลังศักยภาพสตรีเพื่อพัฒนาชุมชนตามหลักพุทธธรรม เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาจากเอกสาร จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญ และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม

             ผลการศึกษา พบว่า ตามแนวคิดศาสตร์สมัยใหม่สตรีควรได้รับการเสริมสร้างพลังศักยภาพ ทั้ง ๕ ด้าน คือ ๑) ด้านครอบครัว สตรีต้องพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจดูแลอบรมบุตรและปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่  ๒) ด้านการศึกษา  พัฒนาและกระตือรือร้นแสวงหาความรู้ ๓) ด้านเศรษฐกิจ กระตุ้นให้สตรีเป็นผู้นำ และรู้กฎหมายแรงงาน ๔) ด้านสังคม ร่วมคิดและตัดสินใจในกิจกรรมของชุมชน ๕) ด้านการเมือง สนับสนุนให้สตรีและเยาวชนสนใจการเมืองท้องถิ่นและการปกครองระบอบประชาธิปไตย และลงเลือกตั้งมากขึ้น

             หลักพุทธธรรมที่นำมาเสริมสร้างพลังศักยภาพสตรีด้วยครอบครัว คือ หลักพรหมวิหาร ๔  หลักฆราวาสธรรม ๔ และหลักทิศ ๖ ด้านการศึกษาใช้หลักไตรสิกขา และหลักพาหุสัจจะ ด้านเศรษฐกิจใช้หลักทิฏฐิธัมมิกัตถะ ด้านสังคมใช้หลักสังคหวัตถุ ๔ หลักสาราณียธรรม ๖ และด้านการเมืองใช้หลัก    อปริหานิยธรรม และหลักอคติธรรม

             รูปแบบการเสริมสร้างพลังศักยภาพสตรีเพื่อพัฒนาชุมชนตามหลักพุทธธรรม พบรูปแบบที่เรียกว่า LPD Model for Women อันประกอบด้วย ๑) Learning Step (ขั้นเรียนรู้) คือ การส่งเสริมโลกแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยการพัฒนาตนเองให้มีพลังแห่งความรักทำให้ครอบครัวมีความอบอุ่นและเข้มแข็งและการทำบทบาทหน้าที่ของตนให้ครบถ้วนสมบูรณ์และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อนำมาสร้างคุณค่าให้กับตนเองและพัฒนาชุมชน ทั้งในด้านการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง การสานสัมพันธ์ในชุมชน การปกครองทั้งด้านนิติรัฐและประชาติรัฐตามหลักประชาธิปไตย  ๒) Practice Step (ขั้นปฏิบัติ) คือ การส่งเสริมให้สตรีแสดงตนเป็นแบบอย่างที่ดีตามบทบาทหน้าที่ทั้งส่วนตัวและสังคม หมั่นพัฒนาตนเองเสมอ ขยันหาและขยันเก็บเป็นนักวางแผนการเงินให้กับครอบครัวและชุมชน สามารถเป็นผู้นำและปฏิบัติตนเป็นพลเมืองประชาธิปไตยที่ดีเป็นแบบอย่าง ใส่ใจแบ่งปันและทำตนให้เป็นประโยชน์กับชุมชน ๓) Development Step (ขั้นพัฒนา) คือ การเสริมสร้างศักยภาพสตรีเพื่อให้มีพลังยิ่งขึ้นด้วยการใช้หลักพุทธธรรมมาเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตตนเองในทางที่ดีงามและนำพาชุมชนให้เจริญเข้มแข็งและยั่งยืนด้วยพลังสตรีในชุมชน โดยการทบทวนความผิดพลาด ปรับปรุงแก้ไขและทำให้เจริญ พัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง สำหรับ ด้านครอบครัว คือ เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวให้อบอุ่น, แบ่งบทบาทหน้าที่ด้วยตระหนักรู้ในคุณค่าของกันและกัน และรับผิดชอบงานภายในบ้านควบคู่กับใช้ชีวิตในชุมชนให้มากขึ้นด้วยการทำงานสร้างสรรค์ ด้านการศึกษา คือ การเรียนรู้โลกด้านในสร้างปัญญาและพลังชีวิต, การเติมเต็มความรู้ร่วมสมัยเพื่อก้าวทันโลกอย่างสมดุล และทบทวนตรวจสอบตนเองเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านเศรษฐกิจ คือ การแสวงหาช่องทางการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวและชุมชนบนรากฐานแห่งความพอเพียงและความไม่ประมาท และสร้างวินัยบริหารการเงินอย่างตระหนักถึงคุณค่ามากกว่าสนองวัตถุนิยม  ด้านสังคม คือ ปลูกจิตสำนึกการยึดเหนี่ยวใจในชุมชน และปลูกฝังความมีวินัยความหนักแน่นมั่นคงในจุดหมายที่ดีงามร่วมกัน ด้านการเมือง คือ สร้างความรอบรู้ด้วยการหมั่นพบประพูดคุยในชุมชน, ยึดมั่นเคารพในกติกา, ร่วมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย, ส่งเสริมให้เรียนรู้ในการให้เกียรติรับฟัง เคารพในความเห็นต่าง, กล้าแสดงความเห็นที่เป็นประโยชน์, สร้างเสริมวัฒนธรรมชุมชนในการสอดส่องดูแลและปกป้องสิทธิ์, ร่วมกันรักษาประเพณีอันดีงามและตระหนักถึงคุณค่าให้เกียรติยกย่องผู้อาวุโสในชุมชน

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕