หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ชาตรี อุตสาหรัมย์
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๖ ครั้ง
พัฒนาการความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ไทย
ชื่อผู้วิจัย : ชาตรี อุตสาหรัมย์ ข้อมูลวันที่ : ๐๗/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  สมิทธิพล เนตรนิมิตร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๓ มกราคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “พัฒนาการความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ไทย” ประกอบด้วยวัตถุประสงค์ ๑) ศึกษาแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ๒) ศึกษาพัฒนาการความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ ๓) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์  ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่ประกอบด้วยการศึกษาค้นคว้าเอกสาร สัมภาษณ์ ประชาพิจารณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิ และวิเคราะห์เชิงเนื้อหา

             จากการวิจัยพบว่า ความสัมพันธ์เชิงอำนาจหมายถึงความสัมพันธ์ในทางกฎหมายที่ใช้อำนาจทางการปกครอง  รวมทั้งความสัมพันธ์ที่มีต่อบุคคลในเชิงจารีตประเพณีที่เคยมีมา ความสัมพันธ์ลักษณะดังกล่าวนั้นหมายถึง ความสัมพันธ์ในด้านปฏิบัติการและการบริหารราชการในทุกระดับตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับกลุ่มคน และระดับสังคม เมื่อรัฐใช้อำนาจในการปกครองบ้านเมืองผ่านทางกฎหมาย ในขณะเดียวกันพระพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อรัฐทั้งในระดับสถาบันและบุคคล ดังนั้นหลักธรรมที่รัฐควรนำมาปฏิบัติ คือ หลักธรรมาธิปไตยซึ่งเป็นหลักการสำคัญแนวพุทธ ที่ไม่ใช่รูปแบบการปกครองแต่เป็นหลักการที่เคารพยึดถือหลักธรรมเป็นใหญ่ โดยหลักธรรมสำคัญได้แก่หลักธรรมราชาซึ่งเป็นหลักธรรมของผู้ปกครองที่ดีมีสัมมาทิฐิ คือผู้ที่มีศีลเป็นข้อประพฤติพื้นฐานนั่นเอง

             พัฒนาการความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ไทย    สมัยรัตนโกสินทร์  ปรากฎให้เห็น ๓ ด้านคือ ในด้านกฎหมาย ด้านการเมืองการปกครอง และด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนา กล่าวคือ    สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นพระพุทธรูปเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันเกิดจากบุญบารมี     ของพระมหากษัตริย์ แต่ช่วงปลายสมัยต้นมิติรูปแบบการปกครอง  แนวคิดใหม่ให้เป็นการสำนึกทางประวัติศาสตร์ของรัฐ    ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ยุคกลางเปลี่ยนแนวคิดจากจักรวาลวิทยามาสู่   แนวคิดภายใต้อำนาจรัฐที่มั่นคงเป็นปึกแผ่น    กับจิตสำนึกร่วมทางประวัติศาสตร์ภายใต้อุดมคติทางการเมืองสมัยใหม่ของสยามประเทศ   สมัยปัจจุบันเป็นช่วงสลับสับเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลเผด็จการกับรัฐบาลประชาธิปไตย  ซึ่งทำให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์หลายครั้ง  จนถึงในรัชกาลปัจจุบันมีการแก้ไขพระราชบัญญัติคระสงฆ์ ปี พ.ศ.๒๕๖๐

             ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับคณะสงฆ์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์  ปรากฏชัดทางด้านกฎหมายดังนี้ รัชกาลที่ ๑ มีการตรากฎหมายพระสงฆ์ พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๔๔ เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรเปนครั้งแรก รัชกาลที่ ๔ มีการตรากฎหมายเรียกว่าประชุมประกาศ รัชกาลที่ ๔ ขึ้น สมัยรัชกาลที่ ๕ มีการตรากฎหมายลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ ปรับโครงสร้างคณะสงฆ์เป็น ๒ นิกาย คือ (๑)ธรรมยุติกนิกาย (๒) มหานิกาย  โดยให้มหาเถรสมาคมเป็นที่ปรึกษา  ต่อมารัชกาลที่ ๘ มีการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. ๒๔๘๔  ซึ่งเปลี่ยนระบบการปกครองจากสมบูรณาญา-      สิทธิราชย์พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุด  มาสู่ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐธรรมนูญ โดยพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจผ่านอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ สมัยรัชกาลที่ ๙ มีการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕  โดยในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มีการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ครั้งที่ ๑  และในรัชกาลปัจจุบันได้ทำการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ครั้งที่ ๒ ปี พ.ศ.๒๕๖๐ ซึ่งบัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ดังโบราณราชประเพณีในอดีต

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕