หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พยุงศักดิ์ ศรีรัตนบุตร
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๖ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธธรรมเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับผู้สูงอายุ ในเขตตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ชื่อผู้วิจัย : พยุงศักดิ์ ศรีรัตนบุตร ข้อมูลวันที่ : ๑๓/๐๒/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูศรีปริยัตยาภิวัฒน์
  พระครูสิริสุตาภรณ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 4 ธันวาคม 2560
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

           วิทยานิพนธ์ เรื่อง ศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธธรรม เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับผู้สูงอายุ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ (1) เพื่อศึกษาผู้สูงอายุในเขตตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี (2) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ (3) เพื่อศึกษาวิเคราะห์การประยุกต์ใช้หลักพุทธธรรมกับผู้สูงอายุในเขตตำบลขามใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วิธีการวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาค้นคว้าเอกสารที่เป็นปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ที่เกี่ยวข้องและภาคสนามสัมภาษณ์ผู้สูงอายุแล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์เรียบเรียง จัดทำเป็นรูปเล่มและนำเสนอเชิงพรรณนา

           ผลจากการวิจัยพบว่า 

           ๑) ผู้สูงอายุหรือผู้สูงวัย คือ ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ตามเกณฑ์ปลดเกษียณราชการ ปัญหาทางร่างกาย จิตใจ มีความอ่อนแอ การเจ็บป่วย และมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสื่อม         ความต้องการและการตอบสนองของผู้สูงอายุ ก็คือ การดูแลเกี่ยวกับความจำเป็นบนพื้นฐาน เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีความสุขและมีกำลังใจ ไม่ท้อแท้ต่อการดำเนินชีวิตที่สำคัญส่งเสริมให้ผู้สูงอายุรู้สึกไม่โดดเดี่ยวกับการใช้ชีวิต เป็นอยู่ต่อไป ผู้สูงอายุในเขตตำบลขามใหญ่ ต้องการมีสิทธิได้รับการคุ้มครองมี           ผู้อุปการะเลี้ยงดู และเกียรติยศในสังคม ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงอาสาสมัครเป็นผู้นำ เป็นผู้ร่วมหรือสังเกตในกิจกรรมทางสังคม ศาสนพิธี วันสำคัญต่าง ๆ เพื่อความสุขในการอยู่ร่วมกัน ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็เป็นตัวอย่างที่ดี ผู้นำที่ดี จนได้รับการยกย่องนับถือ เป็นผู้นำตัวอย่าง พ่อแม่ตัวอย่าง

           2) หลักพุทธธรรมที่นำไปประยุกต์ใช้กับผู้สูงอายุ ในเขตตำบลขามใหญ่ คือ หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และหลักธรรมที่สำคัญได้นำมาประยุกต์ใช้มี 5 ประการ คือ พระรัตนตรัย               ไตรลักษณ์ เบญจศีลเบญจธรรม อนุสติและสติปัฏฐาน การนำพระรัตนตรัย 3 ไปประยุกต์ใช้กับผู้สูงอายุ พบว่า ผู้สูงอายุมีจิตสำนึกถึงพระพุทธ  พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งและตั้งอนุสติ            ไตรลักษณ์กับวิถีชีวิตของผู้สูงอายุ ทำให้เกิดแนวคิดเกี่ยวกับความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ในการดำเนินชีวิต ความไม่มีตัวตน ได้นำมาพิจารณาและรู้ถึงความเป็นจริงแล้วไม่ยึดมั่น และปล่อยวางเบญจศีล         เบญจธรรมกับผู้สูงอายุ เบญจศีลเป็นข้อควรละเว้น 5 ประการ สำหรับควบคุมกาย วาจา ให้อยู่ในความดีงาม เบญจธรรม คือข้อที่ควรปฏิบัติ 5 ประการ เป็นข้อธรรมที่ทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นคนดี              อนุสติกับผู้สูงอายุ อนุสติ คือ อาการรู้สึกระลึกอยู่บ่อย ๆ ส่วนมากผู้สูงอายุเป็นพุทธศาสนิกชน            เป็นแบบอย่างของชุมชน การมีสติระลึกอยู่บ่อย ๆ ผู้สูงอายุในเขตตำบลขามใหญ่ได้นำประยุกต์อนุสติที่สำคัญและนำมาใช้กับผู้สูงอายุมี 3 ประการ คือ พุทธานุสติ อานาปานสติ และมรณสติ สติปัฏฐานกับผู้สูงอายุ สติปัฏฐาน อันเป็นที่ตั้งของสติที่จะกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริงผู้สูงอายุ ในเขตตำบลขามใหญ่ ได้นำสติปัฏฐานมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต โดยการตั้งสติระลึกร่างกาย ความรู้สึกนึกคิด ภาวะของดวงจิตและสภาวะธรรมความจริง ผลตามมาก็คือ ความสุข และในขณะเดียวกันก็ทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแล้วสั่งสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตาม

           3) การประยุกต์หลักพุทธธรรมกับผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุต้องศึกษาให้เข้าใจชัดถึงแนวปฏิบัติและเห็นคุณค่า แล้วจึงนำไปอบรมสั่งสอนเผยแผ่ พระรัตนตรัย ผู้สูงอายุ ต้องเข้าใจและทำตัวเองให้เป็นแบบอย่าง โดยจัดกิจกรรมและเข้าร่วมปฏิบัติอย่างแท้จริงเบญจศีลเบญจธรรม ผู้สูงอายุได้ผ่านวัย เข้าใจความถูกต้อง ถูกผิดในการดำเนินชีวิตในสังคม ควรจะเคร่งครัดปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่ดี ในเบญจศีลเบญจธรรม ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคคล ครอบครัวและสังคมปัจจุบัน เพราะความบกพร่องในการรักษาเบญจศีลและไม่เห็นคุณค่าการนำเบญจธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน จึงก่อให้เกิดปัญหาสังคมนานาประการ ไตรลักษณ์ผู้สูงอายุ สภาพความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และความไม่มีตัวตน ซึ่งเป็นสามัญลักษณ์ ดังนั้น ผู้สูงอายุจึงควรดำเนินชีวิตโดยความไม่ประมาท คิดถึงคุณค่า เวลา และสร้างกุศลแก่ตนเองและสังคม อนุสติ ผู้สูงอายุตำบลขามใหญ่ ส่วนมากเป็นผู้มีคุณวุฒิและเป็นพุทธศาสนิกชน เข้าใจและรู้ซึ้งถึงอนุสติ 10 ประการ ได้เลือกเอาพุทธานุสติ อานาปนสติ และมรณสติมาประยุกต์ใช้ในชีวิต โดยตั้งอนุสติและเข้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ น้อมจิตคิดถึงลมหายใจเข้าออกและเห็นคุณค่าของลมหายใจจะขาดเสียมิได้ ผู้เจริญมรณสติ โดยการรักษาจิตของตนไม่ให้ฟุ้งซ่าน พิจารณาถึงความตายของสัตว์ทั้งหลาย พร้อมกันนั้นต้องสำนึกว่าความตายจะต้องมาถึงเรา  สติปัฏฐาน ผู้สูงอายุจำเป็นต้องกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง มีการตั้งสติระลึกถึงร่างกาย ความรู้สึกนึกคิด ภาวะของจิตใจและสภาวธรรมให้เข้าใจจนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดความสันติสุข ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและสังคมในปัจจุบันและอนาคต

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕