หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระณรงค์ สิริปญฺโญ
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๗ ครั้ง
การศึกษาวิธีปฏิบัติกรรมฐานแบบกำหนด “รูป-นาม” ตามแนวอาจารย์แนบ มหานีรานนท์
ชื่อผู้วิจัย : พระณรงค์ สิริปญฺโญ ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๒/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิธจารุธรรม
  ประพัฒน์ ศรีกูลกิจ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาเพื่อศึกษาหลัก รูป-นามที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาวิธีการปฏิบัติกรรมฐานแบบกำหนด รูป-นามตามแนวอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้วิธีปฏิบัติกรรมฐานแบบกำหนด รูป-นามตามแนวอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ของวัดสันติวัน อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกา รวมทั้งข้อมูลจากเอกสารวิชาการ     ที่เกี่ยวข้อง

จากการศึกษาพบว่า รูป-นามที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น คือ สภาวธรรมทั้งหลายทั้งภายในและภายนอกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่มีอยู่จริงโดยความเป็นปรมัตถ์ ทั้งรูปธรรมและนามธรรมนั้น
ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นและแตกดับไปในที่สุด โดยสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏเกิดขึ้นนั้นเป็นเพียงกระแสแห่งการรวมตัวกันของสภาพธรรมที่เรียกว่าขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นการรวมกันของ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย และสมมติเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยดังกล่าวนั้น ว่าเป็น สัตว์ บุคคล ผู้หญิง ผู้ชาย เป็นต้น ซึ่งขันธ์ ๕ นั้น หากพิจารณาโดยความเป็นปรมัตถธรรม แล้วก็คือ รูปกับนาม เท่านั้น ดังนั้น รูปธรรมนามธรรมจึงเป็นหลักปรมัตถธรรมที่สำคัญของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งถือว่าเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ปรากฏตามคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ การปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งในสภาวะของรูปธรรมนามธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นต้องมีอารมณ์กรรมฐาน คือ วิปัสสนาภูมิ ๖ หรือ รูปกับนาม และวิธีการปฏิบัติวิปัสสนาก็คือการเจริญสติปัฏฐาน
โดยเป็นการพิจารณาเห็นกายในกาย การพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา การพิจารณาเห็นจิตในจิต
และการพิจารณาเห็นธรรมในธรรม ซึ่งการกำหนดรู้ในฐานทั้ง ๔ นี้เป็นการกำหนดวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน

วิธีการปฏิบัติกรรมฐานแบบกำหนด รูป-นามตามแนวอาจารย์แนบ  มหานีรานนท์ เป็นหลักการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ คือ การกำหนดรู้ “รูป-นาม” ที่เกิดขึ้นตามผัสสะและอารมณ์ที่เข้ามากระทบทางทวาร ๖ อันได้แก่ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ในการปฏิบัติจึงใช้ทวารทั้ง ๖ เป็นฐานในการเจริญสติ ด้วยการกำหนดรู้ ระลึกรู้ในผัสสะของ “รูป-นาม”ที่เกิดขึ้นในขณะปัจจุบันที่เรียกว่าอารมณ์ปัจจุบัน เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติกำหนดรู้ในอารมณ์ปัจจุบันได้ต่อเนื่องอย่างเท่าทันโดยละเอียดสมบูรณ์     ทุกการเคลื่อนไหวของอิริยาบถเหล่านั้นแล้ว ย่อมส่งผลให้การทำงานของสติสัมปชัญญะ ในการพิจารณารูปและนามปรากฏชัดตามลำดับของวิปัสสนาญาณ ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติเห็นสภาวะที่เกิดขึ้น ของรูปนามตามสภาพความเป็นจริง และเห็นรูปนามนั้นตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์มีความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา    มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่และเสื่อมสิ้นไปในที่สุด

วัดสันติวัน เป็นวัดที่เผยแผ่หลักปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ที่มีการนำหลักการปฏิบัติในหมวดอิริยาบถและหมวดสัมปชัญญะมาเป็นวิธีการปฏิบัติด้วยการกำหนด “รูป-นาม” โดยประยุกต์ ให้เข้ากับวิธีการทั้ง ๑๕ ข้อ ของอาจารย์แนบ  มหานีรานนท์ เพื่อสะดวกแก่ผู้ที่เริ่มปฏิบัติใหม่จะตามพิจารณาเข้าถึงเหตุผลตามความจริงได้ และเพื่อนำหลักการปฏิบัติดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันในด้านต่างๆเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต และน้อมนำเข้าสู่โลกุตตรธรรมตามลำดับจนถึงการบรรลุมรรคผลนิพพาน

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕