หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » แม่ชีสุนันทา เรียงแหลม
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๔ ครั้ง
การศึกษาวิธีการแก้ปัญหาเรื่องความโลภในสังคมปัจจุบันตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : แม่ชีสุนันทา เรียงแหลม ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี
  นายรังษี สุทนต์
  นายรังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : ๕ มีนาคม ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

      วิทยานิพนธ์เล่มนี้ มุ่งศึกษาวิธีการแก้ปัญหาความโลภในสังคมปัจจุบันตามหลักพระพุทธศาสนาเถรวาท ตามวัตถุประสงค์ คือ เพื่อศึกษาความโลภในพระพุทธศาสนาเถรวาทปัญหาที่เกิดจากความโลภในสังคมปัจจุบัน และวิธีการแก้ปัญหาความโลภในสังคมปัจจุบันตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเถรวาท ด้วยการวิจัยเชิงเอกสารภายใต้กรอบแนวคิด ๓ ประเด็นที่กล่าวแล้ว เพราะปัญหาในสังคมปัจจุบันที่บุคคลละเมิดศีล ๕ แล้ว เช่น มีการก่ออาชญากรรมได้แก่การปล้นฆ่า การชิงทรัพย์ การประพฤติละเมิดทางเพศ การพูดเท็จ ปัญหายาเสพติด สาเหตุ

มาจากความโลภและวิธีการแก้ปัญหาหรือบรรเทาความโลภสามารถนำ หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเถรวาทมาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแต่ละปัญหาจากการศึกษา ความโลภในพระพุทธศาสนาเถรวาท ได้พบว่า ความหมายของความโลภ คือ ความอยากได้ มักมาก ความต้องการ หรือสภาวะที่ทำจิตให้ละโมบอยากได้ ในคัมภีร์พระไตรปิฎก และอรรถกถา ฎีกามีข้อความว่าความโลภ มีลักษณะเพ่งเล็งโน้มน้าววัตถุสิ่งของของผู้อื่นเข้ามาหาตน เพราะความโลภอยากได้ บุคคลจึงประพฤติผิดศีลธรรม ความโลภ(โกรธหลง) ทำจิตใจให้เศร้าหมอง เป็นรากเหง้าของอกุศลมูลมี ๓ ระดับ คือ อย่างละเอียด อย่างกลางและอย่างหยาบ สาเหตุภายใน คือ อวิชชาความไม่รู้และโมหะความหลง และมีสาเหตุภายนอกคือ สิ่งที่ดึงดูดจิตใจ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และ โผฏฐัพพะที่มากระทบจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบได้ข้อสรุปว่า ปัญหาสังคมที่เกิดจากความโลภของคนในปัจจุบันกับในอดีตที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทมีพฤติกรรมเหมือนกัน คือ การละเมิดศีล ๕ ซึ่งส่งผลกระทบให้บุคคลผู้กระทำและสังคมต้องเดือดร้อน เมื่อมองในแง่ของวงจรปฏิจจสมุปบาท คือ กิเลส กรรม วิบาก จะพบว่า กิเลสคือความโลภเป็นเหตุให้อยากได้ในทางที่ผิดศีลธรรม กรรมเป็นส่วนของการกระทำทุจริต และวิบากเป็นส่วนที่ต้องรับผลของการกระทำ เช่น ถูกจับดำเนินคดีตามกฎหมายจากการศึกษาหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่าองค์ธรรมที่สามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้เป็นวิธีการแก้ปัญหาความโลภในสังคม คือ ทาน การให้วัตถุสิ่งของต่าง ๆ แก่ผู้อื่นเพื่อตัดความโลภความตระหนี่ออกจากใจ ศีล เป็นข้อห้ามทางกายวาจาเพื่อการไม่ละเมิดในทรัพย์สินและบุคคลที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น สันโดษ คือความยินดีพอใจในสิ่งของที่ตนมีและสิ่งที่ตนพึงได้ในทางชอบธรรมเป็นองค์ธรรมสำหรับปิดกั้นความโลภ ความเห็นแก่ตัวด้วยอำนาจตัณหาอุปาทาน ขันติ ความอดทน ต่อกิเลสประเภทความโลภอยากได้ของผู้อื่นในทางที่ผิดศีลธรรม อดกลั้นไม่ทำชั่วและปัญญาซึ่งเป็นองค์ธรรมที่สูงสุดทางพระพุทธศาสนามี ๓ ประเภทคือ ๑. ญาตปริญญา กำหนดรู้โทษความโลภ ๒. ตีรณปริญญา พิจารณาความโลภซึ่งอยู่ในกฎไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไป ๓. ปหานปริญญา ความรู้เพื่อละความโลภ
ฉะนั้น วิทยานิพนธ์เล่มนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับความโลภ ซึ่งเป็นอกุศลมูลข้อที่ ๑ ตลอดถึงการบรรเทาความโลภและส่งเสริมการลดละความโลภเพื่อสันติสุขแก่
สังคม
Download : 255141.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕