หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ศักดิ์ดา นาคอ่วมค้า
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๗ ครั้ง
การพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กไร้สัญชาติ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี (การพัฒนาสังคม)
ชื่อผู้วิจัย : ศักดิ์ดา นาคอ่วมค้า ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ณัฐพงศ์ สังวรวรรณ์
  บัว พลรัมย์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัยไว้ ๓ ประการ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาการพัฒนาศักยภาพของเด็กไร้สัญชาติในตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี           ๒) เพื่อศึกษาปัญหา และอุปสรรคของเด็กไร้สัญชาติในตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี  ๓) เพื่อเสนอแนวทางการพัฒนาเด็กไร้สัญชาติในตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ดำเนินการตามระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม (Mixed Methodology Research) ประกอบด้วยการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ เด็กไร้สัญชาติ ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๒ - ๑๘ ปี ในตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน ๓๐๖ คน จากจำนวนประชากรทั้งหมด ๑,๓๐๒ คน โดยการใช้สูตรของทาโร ยามาเน่ (Taro Yamane) ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จากกลุ่มตัวอย่าง ผู้วิจัยได้นำแบบสอบถามทั้งหมด มาวิเคราะห์ และประมวลผล โดยนำข้อมูลไปวิเคราะห์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ โดยใช้สถิติดังนี้ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก      (In-depth Interview) กับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) และใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท (Content Analysis Techniques)

 

ผลการวิจัยพบว่า

๑. การพัฒนาศักยภาพของเด็กไร้สัญชาติ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ทั้ง ๔ ด้าน โดยภาพรวม อยู่ในระดับปานกลาง ๓.๒๓ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านสิทธิมนุษยชน ด้านการพึ่งพาตนเอง ด้านการเรียนรู้ และด้านสังคม/วัฒนธรรม อยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน

๒. ปัญหา และอุปสรรคของเด็กไร้สัญชาติในตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี         จังหวัดกาญจนบุรี พบว่า ๑) ด้านการเรียนรู้ ขาดการสื่อสารระหว่างผู้สอนและตัวเด็ก ขาดความไม่เข้าใจในเนื้อหาของการเรียนรู้ และขาดโอกาสในการเข้าศึกษาและเรียนรู้ ๒) ด้านสังคม/วัฒนธรรม ขาดการส่งเสริมเรียนรู้ในด้านศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น ขาดความรู้และความเข้าใจในการพัฒนาชุมชนของตนเอง และขาดความร่วมมือในการมีส่วนร่วมของชุมชน ๓) ด้านสิทธิมนุษยชน มีข้อจำกัดในการออกนอกพื้นที่ ถูกจำกัดสิทธิ์ในการเข้ารับการศึกษาต่อ และสิทธิการได้เข้ารักษาพยาบาลมีข้อจำกัด ๔) ด้านการพึ่งพาตนเอง ขาดความสามารถช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันได้อย่างสมบูรณ์ ขาดความสามารถในการสื่อสารด้านภาษาที่ดีกับบุคคลภายนอก และขาดความสามารถดูแลสุขอนามัยของตนเองได้อย่างถูกต้องตามหลักสุขาอนามัยที่ดี

๓. แนวทางการพัฒนาเด็กไร้สัญชาติในตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี พบว่า ๑) แนวทางด้านการเรียนรู้ ควรมีการกำหนดแนวทางการส่งเสริมศักยภาพให้แก่ครูผู้สอนเพื่อมีความหลากหลายในด้านภาษา ควรมีการกำหนดแนวทางการปรับเปลี่ยนสื่อการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ และเข้าใจได้ง่ายในเด็กไร้สัญชาติ และควรมีการกำหนดแนวทางในด้านการเปิดโอกาสทางด้านการศึกษา และสิทธิทางการศึกษาให้มีความเท่าเทียมกับเด็กทั่วไป  ๒) แนวทาง             ด้านสังคม/วัฒนธรรม ควรมีการกำหนดแนวทางการจัดทำแผนโครงการชุมชน โดยการนำของกำนันผู้ใหญ่บ้าน เพื่อส่งเสริมประเพณีท้องถิ่นให้กับเยาวชน ควรมีการกำหนดแนวทางการเสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิต ให้มีความเข้าใจในสังคมปัจจุบัน และส่งเสริมให้ครอบครัวได้มีจิตสำนึกในการพัฒนาชุมชน และควรมีการกำหนดแนวทางการปลูกฝังเด็กไร้สัญชาติในท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน ๓) แนวทางด้านสิทธิมนุษยชน ควรมีการกำหนดแนวทางในด้านสิทธิการอาศัยในประเทศไทย และสิทธิในการศึกษาในระดับชั้นที่สูงขึ้นไป เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้แก่เด็กไร้สัญชาติ ควรมีการกำหนดแนวทางคุ้มครองการไม่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ/การถูกทำร้ายร่างกาย และจิตใจ จากบุคคลที่มีอิทธิพลในชุมชน และควรมีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติในการเข้าถึงบริการอย่าง เท่าเทียมกับบุคคลอื่นในสังคมโดยไม่มีการละเมิดและถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ๔) แนวทางด้านการพึ่งพาตนเอง ควรมีการกำหนดแนวทางการส่งเสริมอาชีพให้แก่เด็กไร้สัญชาติ เพื่อเพิ่มรายได้แก่ครอบครัวของตัวเด็ก ควรมีการกำหนดแนวทางการรับบริการสุขภาพ คือเด็กไร้สัญชาติสามารถเข้ารับบริการด้านสุขภาพจากสถานพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย และควรมีการกำหนดแนวทางการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ในการใช้ภาษาไทยให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕