หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหากิตติเรศ กิตฺติญาโณ (สายเนตร)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๑ ครั้ง
แนวคิดและกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม : กรณีศึกษางานศพปลอดอบายมุข เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร (การพัฒนาสังคม)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหากิตติเรศ กิตฺติญาโณ (สายเนตร) ข้อมูลวันที่ : ๑๐/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ณัฐพงศ์ สังวรวรรณ์
  บัว พลรัมย์
  -
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

              การวิจัยครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ  ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในการจัดงานศพปลอดอบายมุข  ๒) เพื่อศึกษารูปแบบและพิธีกรรมในการจัดงานศพปลอดอบายมุข ๓) เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคในการจัดงานศพปลอดอบายมุข กับการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ดำเนินการโดยใช้การศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จากเอกสารชั้นปฐมภูมิ (Primary sources) คือพระไตรปิฎก อรรถกถา และทุติยภูมิ (Secondary sources) คือหนังสือ เอกสาร ตำรา งานวิจัย วิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานศพปลอดอบายมุขในพระพุทธศาสนา และเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา (Descriptive Research) เฉพาะกับผู้ให้ข้อมูลหลัก ๒๐ รูป/คน ที่สำคัญสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และวิธีดำเนินการวิจัย

 

 

                ผลการวิจัย พบว่า

               (๑) จากการศึกษาการจัดงานศพปลอดอบายมุข พบว่า แนวคิดและกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นไปตามความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม และสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะแนวคิดพฤติกรรมดั้งเดิมที่ควรได้รับการเปลี่ยนแปลง คือการจัดงานศพมีอบายมุข สุรา การพนัน เป็นต้น เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งไม่ก่อประโยชน์อะไร อีกทั้งยังนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมทางสังคม วัฒนธรรม ประเพณี อันดีงาม ทางวัดจึงมีแนวคิดในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ถูกต้อง เพื่อเป็นแบบอย่างในการจัดงานศพปลอดอบายมุข ด้วยกระบวนการดังนี้

                   ๑. เมื่อมีงานศพต้องทำความเข้าใจถึงกฎระเบียบกติกาของทางวัด

                   ๒. เมื่อจัดงานศพต้องไม่ทำผิดกฎระเบียบกติกาของทางวัด

                   ๓. เมื่อมีการทำผิดกฎระเบียบกติกา ทางเจ้าภาพต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

 

                (๒) จากการศึกษารูปแบบและพิธีกรรมการจัดงานศพปลอดอบายมุข พบว่า รูปแบบและพิธีกรรมต่างๆ ของการจัดงานศพปลอดอบายมุขที่ช่วยสร้าง วัฒนธรรม ประเพณี อันดีงามทางสังคม และความเชื่อที่ถูกต้องตามหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา อีกทั้งยังช่วยลดความฟุ่มเฟือยต่างๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ในการจัดงานศพ ซึ่งรูปแบบและพิธีกรรมการจัดงานศพปลอดอบายมุขนั้น ทางวัดและชุมชนได้ปรึกษาหารือร่วมกัน ปรับประยุกต์ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน และได้ศึกษารูปแบบจากพื้นที่อื่นๆ เพื่อเป็นข้อมูลนำมาสร้างรูปแบบแนวทางปฏิบัติให้เหมาะสมกับพื้นที่ชุมชนของตนเอง โดยการวางกฎระเบียบกติกาและทำความเข้าใจในการจัดงานศพปลอดอบายมุข ว่ามีผลดีและเป็นประโยชน์อย่างไร

               (๓) จากการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคในการจัดงานศพปลอดอบายมุข พบว่า ปัญหาและอุปสรรคเกิดจากความเชื่อและพฤติกรรมดั้งเดิมในทางที่ผิด และกระบวนการจัดการที่ยังไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดแก่ผู้ประพฤติตามได้ อีกทั้งทางผู้รับผิดชอบมีการปล่อยปละละเลย กล่าวคือไม่เอาจริงเอาจังเท่าที่ควร เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงแนวคิดพฤติกรรมความเชื่อทางสังคม เป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญ เพราะผู้คนมีพฤติกรรมความเคยชินที่สืบทอดปฏิบัติกันมา จึงยากต่อการจัดงานศพปลอดอบายมุขให้เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควร แต่หากทางกลไกลหน่วยงานภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมกับทางวัด ซึ่งเป็นสถานที่รองรับจัดงานศพปลอดอบายมุขโดยตรงทั่วทั้งประเทศ โดยวางนโยบายและกระบวนการจัดการให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ช่วยกันรณรงค์ปลุกจิตสำนึกของผู้คนให้เล็งเห็นถึงโทษของอบายมุขอย่างเข็มแข็ง เมื่อผู้คนส่วนใหญ่ไปในทิศทางเดียวกันแล้ว คนส่วนน้อยก็ต้องคล้อยตามเสียงส่วนมากไปโดยปริยาย และควรศึกษาการจัดงานศพปลอดอบายมุขในรูปแบบอื่นๆ ด้วย ที่ไม่ใช่เพียง สุรา สารเสพติด หรือ การพนัน เท่านั้น เพราะคำว่า อบายมุข คือทางเสื่อมที่ไม่ก่อประโยชน์ อาจรวมไปถึงจำพวก ความเชื่อ แนวคิด พิธีกรรมแอบแฝงในการจัดงานศพ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕