หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาจารุวัตร จารุวตฺโต (คำดี)
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๕ ครั้ง
การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของวัดชลประทานรังสฤษดิ์ (การพัฒนาสังคม)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาจารุวัตร จารุวตฺโต (คำดี) ข้อมูลวันที่ : ๑๐/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสม กลฺยาโณ
  โกนิฏฐ์ ศรีทอง
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ๒) เพื่อศึกษาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักพระพุทธศาสนาของวัดชล ประทานรังสฤษดิ์ และ ๓) เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคและแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักพระพุทธศาสนาของวัดชลประทานรังสฤษดิ์

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยแบบผสานวิธี (Mixed Methodology Research) โดยใช้วิธีวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) วิธีวิจัยเชิงปริมาณใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) ในการเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน ๑๖๙ คน วิธีวิจัยเชิงคุณภาพใช้การศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Analysis) และการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-Depth Interview) จากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informants) จำนวน ๑๐ รูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-Way ANOVA) การเปรียบเทียบรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญที่น้อยที่สุด (Least Significant Difference) วิเคราะห์เนื้อหา

 

 

ผลการวิจัยพบว่า

๑) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นการดำเนินการให้บุคลากรได้ประสบการณ์และเรียน รู้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งในอันที่จะนำมาปรับปรุงความสามารถในการทำงานและส่งเสริมความก้าวหน้าของบุคลากรการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวคิดของ แนดเลอร์ มิได้หมายถึงเฉพาะการฝึกอบรมเท่านั้นยังหมายถึง การเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดจากการจัดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่กำหนดเฉพาะเจาะจงและได้รับการออกแบบที่จะนำไปสู่ความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม      ได้แบ่งกิจกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ ๑)การฝึกอบรม หมายถึง กระบวนการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความรู้ และความชำนาญเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจรวมทั้งการเตรียมให้ผู้ปฏิบัติงานที่มีความพร้อมที่จะเลื่อนขึ้นไปดำรงตำแหน่งสูงขึ้นในงานที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ๒)การพัฒนา หมายถึง การให้เกิดความเจริญก้าวหน้าหรือความสำเร็จในการเพิ่มพูนความรู้ความสามารถทั้งโดยการเรียนรู้ในทางตรงและทางอ้อม และเรียนรู้จากประสบการณ์หรือการให้คำปรึกษาแนะนำสอนงานหรือโดยวิธีอื่นซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ปฏิบัติงานและต่อองค์การ ๓)การศึกษา หมายถึง กิจกรรมที่มีความมุ่งหมายในการที่จะเสริมสร้างความรู้ ความชำนาญค่านิยม ทางศีลธรรมและความเข้าใจที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตอยู่ เพื่อให้ผู้รับการศึกษาสามารถใช้ชีวิตอยู่และ ทำประโยชน์แก่สังคมได้ สำหรับผู้ปฏิบัติงานอยู่แล้วการศึกษา หมายถึง กิจกรรม ด้านการพัฒนาคนที่กำหนดขึ้นเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพการทำงานในภาพรวมของเจ้าหน้าที่ นอกเหนือจากการเน้นเฉพาะ งานที่กำลังทำอยู่ปัจจุบัน

๒) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามหลักพระพุทธศาสนาของวัดชลประทานรังสฤษดิ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ๔.๐๒ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าอยู่ในระดับมากทุกด้านโดยมีค่าเฉลี่ยตามลำดับจากมากไปหาน้อยตามค่าเฉลี่ยดังนี้ ด้านการฝึกอบรม ๔.๐๘ ด้านการจัดกิจกรรม ๔.๐๐ และด้านการศึกษา ๓.๙๘ นับได้ว่าวัดซึ่งเป็นสถานที่สงบเย็นนั้นเหมาะสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อที่จะเป็นการพัฒนาสังคมโดยปริยายต่อไป

๓) ปัญหาอุปสรรคและแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของวัดชลประทานรังสฤษดิ์ (๑) ด้านการฝึกอบรม ทำให้ประชาชนเกิดความรักความสามัคคีกันความคิดเห็นน้อยที่สุดของด้าน เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างไม่เห็นว่าการฝึกอบรมส่งผลต่อการสมัครสมานสามัคคี ดังนั้นความมีการฝึก อบรมด้านการส่งเสริมความสามัคคีเพิ่มขึ้น และการฝึกอบรมยังไม่ทำให้การเผยแผ่ธรรมะมีประสิทธิ ภาพมากขึ้น ถ้าพระคุณเจ้าที่เป็นวิทยากรไม่มีความรู้ลึกซึ้งในพระธรรมและสามารถถ่ายทอดในการอบรมได้ ดังนั้นต้องมีการพัฒนาพระวิทยากรให้มีความรู้และชำนาญในการเผยแผ่ธรรมะและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป (๒) ด้านการจัดกิจกรรม ส่งผลให้บ้านกับวัดใกล้ชิดกันมากขึ้น  เป็นข้อที่มีความคิดเห็นน้อยที่สุดของด้าน อาจเนื่องจากกลุ่มคนที่เข้ามาร่วมจัดและทำกิจกรรมเป็นคนนอกพื้น เช่น กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และค่ายเยาวชนต่างๆ เป็นต้น (๓) ด้านการศึกษา ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อคนในสังคมมากขึ้น เป็นข้อที่มีความคิดเห็นน้อยที่สุดของด้าน บางครั้งการเกิดประโยชน์อาจไม่เห็นเป็นรูปธรรมที่จัดเจนจับต้องได้

๔) ผลการสัมภาษณ์เชิงลึก จากการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของวัดชลประทานรังสฤษดิ์ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นสำคัญ แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของวัดชลประทานรังสฤษดิ์ ได้ส่งเสริมด้านการฝึกอบรม ด้านการจัดกิจกรรม และด้านการศึกษาตามแนวความคิดและรูปแบบการปฏิบัติของพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) ที่ท่านได้วางรากฐานไว้ให้ โดยมุ่งถึงวัดเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และท่านได้ยึดหลักบวร คือ บ้าน วัด และโรงเรียนทำให้วัดชลประทานรังสฤษดิ์เป็นที่รู้จักจากพุทธศาสนิกชน เป็นวัดที่วัดในทางพุทธศาสนาควรยึดเป็นแบบอย่างเพื่อช่วยกันเผยแผ่และธำรงค์พุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕