หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสุรศักดิ์ สุธีโร (มากมี)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๐ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ความงามของประติมากรรมในพระมหาเจดีย์ชัยมงคล วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด
ชื่อผู้วิจัย : พระสุรศักดิ์ สุธีโร (มากมี) ข้อมูลวันที่ : ๑๓/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูภาวนาโพธิคุณ
  โสวิทย์ บำรุงภักดิ์
  สุวิน ทองปั้น
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๐ /พฤศจิกายน/ ๒๕๕๗
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

การศึกษาวิเคราะห์ความงามของประติมากรรมในพระมหาเจดีย์ชัยมงคล  วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม  อำเภอหนองพอก  จังหวัดร้อยเอ็ด  โดยมีวัตถุประสงค์  เพื่อศึกษาทฤษฎีความงามตามหลักสุนทรียศาสตร์  เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและลักษณะทางประติมากรรมที่ใช้ในการสร้างมหาเจดีย์ชัยมงคล  และเพื่อวิเคราะห์ความงามทางประติมากรรมในพระมหาเจดีย์ชัยมงคลตามหลักสุนทรียะ  การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเอกสาร  ด้วยการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากพระไตรปิฎก  เอกสารด้านวิชาการทางปรัชญา  เอกสารทางพระพุทธศาสนา  งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง  แล้วเสนอผลการวิจัยด้วยวิธีวิเคราะห์เชิงพรรณนา

ผลการวิจัยพบว่า  สุนทรียศาสตร์เป็นศาสตร์หนึ่งในวิชาปรัชญาที่ว่าด้วยเรื่องของคุณค่าและความงาม  เป็นปรัชญาที่ค้นหาคำตอบว่า  ความงามคืออะไร  และเราจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินความงามนั้น  ซึ่งในการวิเคราะห์ความงามของประติมากรรมของมหาเจดีย์ชัยมงคลในครั้งนี้  ผู้วิจัยใช้ทฤษฎีตัดสินความงามทางสุนทรียศาสตร์ ๓ ทฤษฎี คือ ทฤษฎีจิตวิสัยนิยม  ทฤษฎีปรวิสัยนิยม  และทฤษฎีสัมพัทธนิยม  จากการวิจัยทั้ง  ๓  ทฤษฎี  พบว่า  ทฤษฎีจิตวิสัยนิยม  เป็นทฤษฎีที่มีเกณฑ์ตัดสินความงามโดยเน้นความสำคัญที่ความรู้สึกของบุคคลหรือใช้ความรู้สึกของบุคคลเป็นเครื่องตัดสินความงาม  ส่วนทฤษฎีปรวิสัยนิยมหรือวัตถุนิยม  เชื่อว่าความงามเป็นคุณสมบัติที่แน่นอนตายตัวและอยู่ในวัตถุมาตั้งแต่แรก โดยไม่ขึ้นกับความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์  และทฤษฎีสัมพัทธนิยม เป็นทฤษฎีที่ให้ความสำคัญทั้งจิตใจของมนุษย์และวัตถุทางสุนทรียะ  ความงามเป็นภาวะของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับวัตถุที่มีปฏิกิริยาตอบสนองในสัดส่วนที่พอๆ  กัน

 พระมหาเจดีย์ชัยมงคลแห่งวัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม เป็นเจดีย์ที่ใช้ศิลปะผสมผสานระหว่างภาคกลาง และภาคอีสานของประเทศไทย  คือ  ระหว่างพระปฐมเจดีย์  และพระธาตุพนม  ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ที่เกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ของหลวงปู่ศรี  มหาวีโร  และเมื่อวิเคราะห์ความงามของประติมากรรมในพระมหาเจดีย์ชัยมงคลทั้ง ๓  ชั้นแล้ว  จึงทำให้ทราบความงามในแต่ละชั้นว่า  ความงามของประติมากรรมในชั้นที่  ๑  ตามหลักจิตวิสัย  เป็นความงามที่เกิดขึ้นจากภาวะที่จิตเข้าไปรับรู้วัตถุสิ่งของแล้วค้นหาความงามของวัตถุนั้นด้วยประสบการณ์และความงามที่จิตได้สั่งสมไว้  เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดออกมาจากจินตนาการของช่าง  มาเป็นรูปเป็นร่าง ผ่านเส้น สี และแสง ได้อย่างเหมาะสมและกลมกลืน ดูแล้วเย็นสบายตาและการจัดพื้นที่ได้อย่างเป็นสัดส่วนลงตัว    ความงามของประติมากรรมในชั้นที่  ๒  ตามหลักปรวิสัยนิยม  เป็นศิลปะวัตถุที่มีความงามอยู่ในตัวของวัตถต่างๆที่นำมาสร้าง  มาแกะสลัก  หรือมาปั้นนั้นเป็นสิ่งที่มีค่ามีคุณสมบัติที่ดีในตัวของมันเอง  ไม่ว่าจะเป็นปูน  ทราย  เรซิ่น  หรือสีทอง  เป็นต้น  วัตถุเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีค่าอยู่ในตัวของมันอยู่แล้วถึงจะไม่มีใครรู้ก็ตาม   และความงามของประติมากรรมในชั้นที่ ๓ ตามหลักสัมพัทธนิยม เป็นความงามที่เป็นธรรมชาติ  คือเป็นความงามที่เกิดขึ้นกลางธรรมชาติแห่งป่าเขา ความเชื่อ  ขนบธรรมเนียม  ประเพณี  และวัฒนธรรมของชุมชนชาวอำเภอหนองพอก ที่เป็นความเชื่อตามหลักพระพุทธศาสนา  จึงกลายเป็นความงามที่เกิดขึ้นจากขบวนการทางจิตใจผสมผสานกันกับวัสดุที่มีคุณภาพ  เมื่อสำเร็จออกมาเป็นประติมากรรมแล้ว  ทำให้ผู้พบเห็นเกิดความรู้สึกแปลกตา  เกิดความทึ่ง  และปลื้มใจในความสวยงามของศิลปะที่แสดงออกมาเป็นเอกลักษณ์ของไทย

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕