หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » มานะ จันทนยิ่งยง
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๖ ครั้ง
ศึกษาการบรรลุธรรมแบบฉับพลันของพระพุทธศาสนานิกายเซน สำนักรินไซ
ชื่อผู้วิจัย : มานะ จันทนยิ่งยง ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูประวิตรวรานุยุต
  พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

 

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนาการของพระพุทธศาสนานิกายเซน สำนักรินไซ และการบรรลุธรรมของพระพุทธศาสนานิกายเซน โดยเฉพาะการบรรลุธรรมของสำนักรินไซที่เรียกกันว่า การบรรลุธรรมแบบฉับพลัน (Sudden Enlightenment) หรือ ซาโตริแบบฉับพลัน

 

 

ผลการวิจัยสรุปได้ว่า พระพุทธศาสนานิกายเซน สำนักรินไซ หรือที่นิยมเรียกกันว่ารินไซเซน (Rinzai Zen) เริ่มต้นพัฒนาขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากที่พระโพธิธรรม (ตั๊กม้อ) จาริกไปยังประเทศจีน ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๐ ซึ่งขณะนั้นพระพุทธศาสนามหายานได้แพร่หลายอยู่แล้วในประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งนักปราชญ์ นักศึกษา และข้าราชการ กำลังฝักใฝ่การท่องการแปลพระสูตร และพระไตรปิฎกเป็นหลัก แต่แนวการเผยแพร่ธรรมของพระโพธิธรรม กับตรงกันข้ามคือเน้นปฏิบัติกรรมฐาน มากกว่าการท่องสวดมนตร์ หรือการอ่านพระไตรปิฏก ภายหลังเมื่อมีศิษย์และผู้ศรัทธาจำนวนมาก จึงได้ขนานนามแนวการสอนของท่านโพธิธรรมว่า ลัทธิฌาน (Chan) และนับว่าท่านเป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ ๑ ของลัทธิฌาน โดยมีการสืบทอดตำแหน่งต่อเนื่องกันถึง ๖ รุ่น ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ท่านเออิไซซึ่งเป็นพระชาวญี่ปุ่น (Eisai พ.ศ. ๑๖๘๔-๑๗๕๘) ได้จาริกไปศึกษาลัทธิฌานในประเทศจีน และกลับมาก่อตั้ง สำนัก “รินไซเซน” (Rinzai Zen) ขึ้นในประเทศญี่ปุ่นในปี พ.ศ. ๑๗๓๔ สำนักรินไซเซนเป็นสำนักที่มีบทบาทสำคัญในการประยุกต์เซนเข้ากับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น ทั้งในด้านการต่อสู้ การดื่มชา การจัดดอกไม้ และการจัดสวน มาจนถึงทุกวันนี้

 

วิธีการฝึกปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมของพระพุทธศาสนานิกายเซน  นับตั้งแต่พระสังฆปริ-นายกองค์ที่ ๑ ตามสายจีน คือพระโพธิธรรม (ตั๊กม้อ) จาริกไปยังประเทศจีนจนในปัจจุบันได้สืบทอดพัฒนาต่อมาจนเป็นที่รู้จักกันในนาม สำนักโซโตะเซน (Soto Zen) เน้นที่การนั่งสมาธิ หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันว่าซาเซน (Zazen) เป็นหลัก อย่างไรก็ดี อาจารย์เซนรุ่นหลัง ๆ ได้ผนวกการใช้โกอาน (Koan) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมด้วยแต่ยังคงเน้นที่การทำซาเซนเช่นเดิม

ส่วนรินไซเซน ซึ่งแยกตัวออกมาอย่างชัดเจนในสมัยท่านฮุ่ยเน้ง (หรือเว่ยหลาง) โดยต่อมาศิษย์ของท่านคือท่านฮวงโป (Huang Po) นับได้ว่าเป็นผู้คิดค้นวิธีการกระตุ้นจิตเดิมแท้ ด้วยวิธีใช้โกอาน รวมถึงวิธีที่ดูออกจะรุนแรงเช่น ตวาด หรือตบดี โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้อบรมฝึกฝนไม่ยึดติดและไม่ปรุงแต่งต่อสรรพสิ่ง มีสติรู้เท่าทันปัจจุบันขณะ อย่างไรก็ตามอาจกล่าวได้ว่า สำนักรินไซเซนแทบจะไม่มีการกำหนดวิธีการปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมเป็นขั้นเป็นตอนอย่างชัดเจน ทั้งนี้มาจากพื้นฐานความเชื่อว่า ซาโตริอันมีลักษณะฉับพลันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ อย่างไรก็ดี วิธีการที่เป็นที่นิยมฝึกปฏิบัติก็คือการทำซาเซน (Zazen) เช่นเดียวกัน หรือการนั่งขัดสมาธิเพื่อรวมจิตใจให้แน่วนิ่ง การจดจ่อถอดปริศนาธรรมโกอาน (Koan) และการโต้ตอบธรรมโดยไม่ผ่านการคิดพิจารณาอย่างทันทีที่เรียกว่า มอนโด (Mondo) โดยระดับการเข้าถึงซาโตริสามารถแบ่งได้ ๕ ระดับเรียกว่า โกอิ (Go-I) โดย ๓ ระดับแรกเป็นภาวะตระหนักรู้ (Noetic) และ ๒ ระดับหลัง เป็นภาวะทางอารมณ์ (Affective) หรือ เป็นภาวะทางจิต (Conotive) โกอินี้เป็นแนวทางที่ใช้ร่วมกันทั้งสำนักรินไซเซน และสำนักโซโตะเซน

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕