หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » วีรยุทธ พงษ์ศิริ
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๑ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการเผยแผ่พระพุทธศาสนากับชาวต่างชาติ ของพระสงฆ์ในโครงการ MONK CHAT เขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ชื่อผู้วิจัย : วีรยุทธ พงษ์ศิริ ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูประวิตรวรานุยุต
  พูนชัย ปันธิยะ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

 

             ผู้วิจัยได้ทำการวิจัยเรื่อง ศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการเผยแผ่พระพุทธศาสนากับชาวต่างชาติของพระสงฆ์ในโครงการ MONK CHAT เขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษารูปแบบและวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษากำเนิดและพัฒนาการเผยแผ่พระพุทธศาสนากับชาวต่างชาติของพระสงฆ์ในโครงการ MONK CHAT      เขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่และ (๓) เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการเผยแผ่พระพุทธศาสนากับชาวต่างชาติของพระสงฆ์ในโครงการ MONK CHAT เขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

           ผลการศึกษาพบว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเมื่อครั้งพุทธกาลนั้น พระพุทธองค์มีวิธีสร้างความศรัทธาให้บังเกิดแก่ผู้ฟัง หรือกลุ่มเป้าหมายด้วยรูปแบบ เทคนิควิธีการที่หลากหลายตามที่มีปรากฏในพระไตรปิฎกเริ่มจากวิธีมุขปาฐะ เป็นวิธีบอกต่อๆกันด้วยปากต่อปาก ในเวลาต่อมาใช้วิธีจารึกหลักฐานพระธรรมคำสั่งสอนลงบนผนังถ้ำ จารึกลงบนใบลาน พิมพ์พระไตรปิฎกเป็นหนังสือ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางสถานีวิทยุโทรทัศน์และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกออนไลน์ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบัน

             นับแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน เชียงใหม่ดำรงความเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นเมืองแห่งศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่มาเยี่ยมชมตามวัดวาอาราม ต่างก็สงสัยใคร่รู้ในเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จึงเป็นจุดกำเนิดของโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวต่างชาติ เป็นที่รู้จักในชื่อภาษาอังกฤษว่าโครงการ MONK CHAT (สนทนาธรรมกับพระ)

 

             โครงการ MONK CHAT มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของพระพุทธศาสนาตลอดจนถึงขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมไทย ด้วยการสนับสนุนในด้านสถานที่ บุคลากรและงบประมาณจากทางมหาวิทยาลัย จึงมีรูปแบบหลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอยู่ ๓ รูปแบบคือ  การสนทนาถามตอบ การบรรยายและการตอบคำถาม และการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ โครงการ MONK CHAT มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา  จึงได้ถือกำเนิดขึ้น เพื่อเปิดเวทีให้พระนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่ต้องการจะฝึกภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรมไทย และเรื่องทั่วไป ด้วยข้อจำกัดในด้านสถานที่ บุคลากรและงบประมาณ จึงทำให้มีรูปแบบหลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นแบบการสนทนาถามตอบ

          ผลการดำเนินงานของโครงการ MONK CHAT ของมหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งได้ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเชิงรุกแก่ชาวต่างชาติ โดยมีผลสัมฤทธิ์การประเมินความรู้และเข้าใจในพระพุทธศาสนาของกลุ่มตัวอย่างชาวต่างชาติ ที่เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ MONK CHAT อยู่ในระดับดีมาก (มจร. ๙๖ % ระดับดีมาก และ มมร. ๙๒% ระดับดีมาก) และมีชาวต่างชาติเข้าร่วมโครงการทั้งหมดประมาณ ๕,๐๑๙ คน (แยกเป็น มจร. ๓,๓๖๗ คน และ มมร. ๑,๖๕๒ คน จากข้อมูลในปี ๒๕๕๙) นอกจากนี้แล้ว โครงการ MONK CHAT ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก เช่น ทำให้ประเทศชาติมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว เป็นแหล่งข้อมูลทางวิชาการสำหรับนักวิจัยด้านการศึกษา ได้เสริมสร้างให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา ได้เผยแผ่หลักพุทธธรรมที่ถูกต้องแก่ชาวต่างชาติ และได้ช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ที่ประสบปัญหาทางด้านจิตวิญญาณ เป็นต้น

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕