หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » สาธนีย์ เหลืองพิทักษ์
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๑ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์มหาปุริสลักษณะที่ปรากฏในพระพุทธรูปสำคัญในล้านนา
ชื่อผู้วิจัย : สาธนีย์ เหลืองพิทักษ์ ข้อมูลวันที่ : ๒๒/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสิริสุตานุยุต
  พระมหาอินทร์วงค์ อิสฺสรภาณี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : มีนาคม 2561
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

   วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาวิเคราะห์มหาปุริสลักษณะที่ปรากฎในพระพุทธรูปสำคัญในล้านนามีวัตถุประสงค์ในการศึกษาคือ ๑) เพื่อศึกษามหาปุริสลักษณะของพระพุทธเจ้า     ที่ปรากฎในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาพุทธลักษณะของพระพุทธรูปสำคัญในล้านนา และ ๓) เพื่อวิเคราะห์มหาปุริสลักษณะที่ปรากฏในพระพุทธรูปสำคัญในล้านนา โดยสรุปได้ดังนี้

    ๑) มหาปุริสลักษณะของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา

   จากการศึกษาเกี่ยวกับมหาปุริสลักษณะทั้ง ๓๒ ประการ พบว่ามีเพียงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่มีมหาปุริสลักษณะครบทั้ง ๓๒ ประการ โดยได้ปรากฎหลักฐานและอธิบายไว้โดยละเอียดในพระไตรปิฎกหลายแห่ง อาทิเช่น ในพระอภิธรรม ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับมหาปุริสลักษณะไว้ หมายถึง ในพระวินัยปิฎกก็ได้กล่าวถึงลักษณะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคติสองอย่างว่า ผู้ใดที่มีมหาปุริสลักษณะครบถ้วนเช่นนี้ หากครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หากออกบวชจะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาโพธิญาณและยังพบว่า มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการของพระพุทธเจ้าเป็นลักษณะของพระมหาบุรุษและบุคคลจะเป็นมหาบุรุษผู้สมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลลักษณะและตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้น จะต้องบำเพ็ญบารมีให้ครบ ๓๐ ประการ ได้แก่ บารมี ๑๐ อุปบารมี ๑๐ และ ปรมัตถบารมี ๑๐

 ๒) พุทธลักษณะของพระพุทธรูปสำคัญในล้านนา

 จากการศึกษาพุทธลักษณะของพระสิหิงค์ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ พบว่าเป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง มีลักลักษณะของสีหลักษณะ เป็นศิลปะล้านนาระยะที่ ๒ มีลักษณะพุทธศิลป์เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร พระวรกายอวบอ้วน พระพักตร์กลม ทรงแย้มพระโอษฐ์ พระหนุเป็นปม ขมวดพระเกศาใหญ่ ยอดอุษณีษะเป็นลูกแก้วคล้ายดอกบัวตูม ชายสังฆาฏสั้นเหนือพระถัน ลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากศิลปะปาละ พุกาม และหริภุญชัย คือชายผ้าที่เพลาแยกออกเป็นสองชาย

             จากการศึกษา พุทธลักษณะของพระแก้วหยก วัดพระแก้ว จ.เชียงราย พบว่าลักษณะพุทธศิลป์ ของพระแก้วมรกตจัดเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งขัดสมาธิราบเหนือฐานหน้ากระดานเกลี้ยง พระพักตร์  ค่อนข้างกลม จัดอยู่ในกลุ่มของพระพุทธรูปล้านนาระยะแรก ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ ขัดสมาธิเพชร พระพักตร์กลม พระรัศมีเป็นตุ่มคล้ายดอกบัวตูม และชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระถัน ตามนิยมที่เรียกว่า แบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง แต่ต่างกันตรงที่พระแก้วมรกตประทับนั่งขัดสมาธิราบ มีชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี ซึ่งเป็นลักษณะที่ได้รับอิทธิพลสุโขทัยเข้ามาผสมแล้ว

            จากการศึกษา พุทธลักษณะพระเจ้าเก้าตื้อ วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ในศิลปะล้านนาแบบเชียงแสนสิงห์สอง คือ พระพุทธรูป ที่มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยง พระพักตร์รูปไข่ค่อนข้างเล็ก ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลวทรงสูง  พระวรกายบอกบาง สังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ๋และยาวลงมาจรดพระนาภีตามแบบอย่างพระพุทธรูปล้านนาที่พบเป็นจำนวนมาก ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ (ตรงกับรัชสมัยของพระเมืองแก้ว) โดยรูปแบบพิเศษคือสังฆาฏิเป็นแผ่นใหญ่ยาวลงมาจรดพระนาภีนั้นเป็นอิทธิพลศิลปะของอยุธยาแล้ว

             ๓) มหาปุริสลักษณะที่ปรากฎในพระพุทธรูปสำคัญในล้านนา

   จากการศึกษาวิเคราะห์มหาปุริสลักษณะที่ปรากฎในพระพุทธรูปสำคัญในล้านนา พบว่า ลักษณะของพระพุทธรูปสำคัญในล้านนา ที่ปรากฎสอดคล้องกับมหาปุริสลักษณะเหมือนกันทั้งสามองค์ คือ มีองค์คุลียาว มีพระวรกายตั้งตรงดุจกายพรหม เพื่อแสดงให้เห็นถึงอานิสงส์ที่พระองค์ไม่ฆ่าสัตว์ ทรงมีพระเมตตากรุณาต่อสัตว์ มีความละอายและมุ่งประโยชน์ต่อผู้อื่น มีพระวรกายทุกส่วนบริบูรณ์ดุจลำตัวท่อนหน้าของราชสีห์ มีร่องพระปฤษฎางค์เต็มเสมอกัน มีลำพระศอกลมเท่ากันตลอด แสดงให้เห็นถึงอานิสงส์ที่พระองค์เป็นผู้ปรารถนาความเจริญแก่พหุชน เจริญด้วยศรัทธา รักษาศีล เจริญด้วยสุตะ พุทธิ จาคะ ธรรมะและปัญญา มีพระเศียรดุจประดับด้วยกรอบพระพักตร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงอานิสงส์ที่พระองค์เป็นผู้นำในการประพฤติสุจริต ๓

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕