หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระปรีดา อภิวโร (บัวสด)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๑ ครั้ง
ศึกษาทุกขเวทนาเพื่อการบรรลุธรรมตามแนวเวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน
ชื่อผู้วิจัย : พระปรีดา อภิวโร (บัวสด) ข้อมูลวันที่ : ๒๗/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  วิโรจน์ คุ้มครอง
  -
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๙ มกราคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

          สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ เพื่อศึกษาทุกขเวทนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และ เพื่อศึกษาการบรรลุธรรมตามแนวเวทนานุปัสสนาสติปัฎฐาน โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์
พุทธศาสนาเถรวาท และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวบรวม สรุป วิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยาย ตรวจสอบความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า

          ทุกขเวทนา คือ การรับรู้อารมณ์ที่เป็นทุกข์ของจิต เวทนาเป็นเจตสิกอย่างหนึ่งของจิต ทุกขเวทนาเกิดจากอกุศลวิปากจิต เวทนามี ๓ ประเภทคือ สุข ทุกข์ และอุเบกขาเวทนา ทุกขเวทนายังจัดเข้าในไตรลักษณ์คือ ทุกขตา เพราะถูกการเกิดขึ้นและการดับสลายไปบีบคั้นอยู่ตลอดเวลาคงอยู่ ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยน ต้องหมดสภาพไป ทุกข์ในอริยสัจ บ่งบอกถึง ความเกิด ความแก่
ความเจ็บ ความตาย เป็นต้น เป็นทุกข์ โดยรวมคือความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ และทุกข์ในปฏิจจสมุปบาท คือกระบวนการสืบทอดเหตุปัจจัยปฏิจจสมุปบาทองค์ธรรม ๑๒ ฝ่ายอนุโลม
ซึ่งหมายถึง เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยสังขารจึงมี เพราะสังขารเป็นปัจจัยวิญญาญจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัยชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสจึงมี ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัยเหล่านี้ การดับทุกข์ที่เกิดจากอวิชชาต้องเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้มีปัญญารู้เห็นความเป็นไตรลักษณ์

          ในการเจริญวิปัสสนาภาวนา ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาทำจิตให้เป็นสมาธิจนสงบจากสิ่งรบกวนจากภายนอก ให้จิตเป็นขณิกหรืออุปจารสมาธิแล้วกำหนดรู้ทุกขเวทนาซึ่งจัดเป็นส่วนหนึ่งของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน อาการความรู้สึกเป็นทุกข์จะปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติแรงมากในช่วงแรกๆ หากผู้ปฏิบัติมิได้ใช้โยนิโสมนสิการและไม่มีกัลยาณมิตรคอยให้การแนะนำอย่างถูกต้องแล้วก็จะทำให้ผู้ปฏิบัติล้มเลิกทำความเพียรได้ หากมีการกำหนดรู้สภาวะทุกข์ทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้นในขณะปัจจุบันด้วยสติ สัมปชัญญะ ไม่หยุดและต่อเนื่อง อาการของทุกขตาซึ่งเป็นหนึ่งในไตรลักษณ์จะปรากฏชัดเจนทำให้จิตของผู้ปฏิบัติหาทางปล่อยวางและเข้าสู่ลำดับของวิปัสสนาญาณโดยอัปณิหิตวิโมกข์ ด้วยความสมบูรณ์ของพละ และ อินทรีย์ มีความเพียรไม่หยุดจิตจะสามารถบรรลุลำดับวิปัสสนาญาณต่างๆ จนถึงมรรค ผล นิพพาน เป็นเหตุให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์ที่เกิดจากอุปาทานขันธ์เพราะการกำหนดรู้ทุกขเวทนาเป็นอารมณ์ของการเจริญวิปัสสนาในเบื้องต้น

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕