หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นางสาวจิตตกานต์ มณีนารถ
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๙ ครั้ง
การศึกษาเนกขัมมบารมีในเตมิยชาดก(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : นางสาวจิตตกานต์ มณีนารถ ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  อาจารย์รังษี สุทนต์
  อาจารย์รังษี สุทนต์
วันสำเร็จการศึกษา : ๑ เมษายน ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาเนื้อหาสาระของเตมิยชาดก(๒) ศึกษาการบำเพ็ญเนกขัมมบารมีของพระเตมีย์ และ (๓) ศึกษารูปแบบเนกขัมมะในเตมิยชาดกผลการศึกษา พบว่า เตมิยชาดกเป็นชาดกเรื่องแรกในมหานิบาตชาดกที่พระพุทธเจ้าทรงปรารภมหาภิเนกขัมมบารมี โดยเนื้อหาสาระมุ่งเน้นถึงความเป็นผู้

หวาดกลัวต่อการตกนรก อันเนื่องมาจากการทำบาปกรรมโดยคาดไม่ถึงจากการครองราชสมบัติ จึงได้พิจารณาเห็นโทษของการเป็นฆราวาส ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับบาปนานัปการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ไม่ได้กระทำโดยตรงก็เป็นไปโดยอ้อม ดังนั้น พระเตมีย์จึงต้องการหลีกหนีจากบาปธรรมทั้งปวง โดยการสละราชสมบัติ และต้องการออกบวช ในที่สุด พระองค์ก็ได้ออกบวชพร้อมทั้งทรงแสดงให้พระราชบิดาเห็นถึงความไม่ประมาทในชีวิต จากนั้นทั้งพระราชบิดาพระราชมารดาและผู้อื่นก็ได้บวชตามพระองค์เป็นอันมาก ในด้านการบำเพ็ญเนกขัมมบารมีของพระเตมีย์นั้น บารมีเป็นคุณความดีที่ทำให้พระองค์เป็นผู้ที่เหนือกว่าผู้อื่น เป็นผู้ที่ประกอบด้วยคุณธรรม มีขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เป็นต้น เป็นผู้เห็นทุกข์ภัยต่าง ๆ จึงได้บำเพ็ญบารมีเพื่อช่วยให้ตนเองหลุดพ้นจากความทุกข์ และช่วยเหลือให้ผู้อื่นให้พ้นทุกข์ด้วย ผู้ที่จะบำเพ็ญเนกขัมมบารมีนั้นจะต้องเห็นโทษของการไม่บำเพ็ญบารมี และอานิสงส์ของการบำเพ็ญบารมี เพื่อเป็นแนวทางในการบำเพ็ญเพื่อให้พ้นจากความทุกข์ สู่ความสุขที่เกิดจากความสงบร่มเย็นและเป็นปัจจัยให้สิ้นอาสวะกิเลสในเบื้องหน้าส่วนในด้านรูปแบบเนกขัมมะนั้น มีการแบ่งช่วงชีวิตของพระเตมีย์ก่อนออกบวช และพระเตมีย์ออกบวช พระเตมีย์ก่อนออกบวชเป็นช่วงแห่งการฝึกจิตข่มใจ เจริญสติ และสมาธิ เป็นเนกขัมมะทางจิต เนื่องจากยังไม่สามารถออกบวชได้ส่วนพระเตมีย์ออกบวชเป็นการออกบวชทั้งกายและใจ เนื่องจากพระองค์มีความต้องการที่จะออกบวช จัดเป็นกายเนกขัมมะ และจิตตเนกขัมมะ ด้านร่างกายได้มีการนุ่งห่ม
เครื่องแบบของนักบวชในสมัยนั้น มีความเป็นอยู่อย่างสันโดษ มักน้อย อยู่ในที่สงัดมีการเดินจงกรมและเจริญสมาธิ ส่วนทางด้านจิตตเนกขัมมะมีการเจริญภาวนาพรหมวิหาร ๔ ทำอภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ ให้เกิดขึ้น

Download : 255175.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕