หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาวิสาตย์ ธมฺมิโก (ศรีษะดี)
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๐ ครั้ง
การศึกษาหลักการและวิธีการของชาคริยานุโยคในการปฏิบัติธรรม(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาวิสาตย์ ธมฺมิโก (ศรีษะดี) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผศ. ชำนะ พาซื่อ
  พระสมภาร สมภาโร
  พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี
วันสำเร็จการศึกษา : ๔ เมษายน ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

     วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาหลักธรรมเรื่องชาคริยานุโยคที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท วิธีการประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติธรรมของบรรพชิตและคฤหัสถ์ อันจะทำให้ได้รับทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์ของผู้อื่นในคราวเดียวกัน ผลการวิจัยได้ข้อสรุปที่สำคัญ ดังนี้คือ

หลักธรรมเรื่องชาคริยานุโยคในพระพุทธศาสนาเถรวาท คือ การประกอบความเพียรในการเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ นอกจากมีคำว่า ชาคริยานุโยคแล้ว ยังมีศัพท์ที่ใช้ในความหมายอย่างเดียวกัน เช่น อุสสาหะ ความอุตสาหะ ปธาน ความเพียรที่ชอบ วิริยารัมภะ การปรารภความเพียร หรือการระดมความเพียร วิริยะ ความเพียร อาตาปี ความเพียรเผากิเลส ปรักกมะ ความบากบั่น วายามะ ความพยายาม อสิถิลปรักกมตา ความมุ่งมั่นอย่างไม่ท้อถอย อนิกขิตตฉันทตา ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ อนิกขิตตธุรตา ความไม่ทอดทิ้งธุระ ธุรสัมปัคคาหะ ความเอาใจใส่ธุระ หลักธรรมเกี่ยวกับความเพียรมีอยู่ในหลายหมวด เช่น หมวดอินทรีย์ เรียกว่า วิริยินทรีย์ หมวดพละ เรียกว่า วิริยพละ หมวดอริยมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่า สัมมาวายามะ หรือเป็นองค์ธรรมแท้ ๆ ไม่มีหมวดอื่นเกี่ยวข้อง เช่น สัมมัปปธาน ๔ จึงกล่าวได้ว่า หลักธรรมเรื่องชาคริยานุโยคนี้ มีปรากฏทั่วไปในพระไตรปิฏก ตลอดจนอรรถกถา เพราะเป็นหลักปฏิบัติ เพื่อทำให้หลุดพ้นจากทุกข์การประกอบความเพียรนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ตั้งแต่เช้ายันค่ำ นอนพักเพียง ๔ ชั่วโมงเท่านั้น ต่อจากนั้นก็ตื่นทำความเพียรอีก เพื่อทำให้จิตคลายจากความง่วง เพราะความง่วงนี้ ไม่มีวิธีใด จะแก้ได้ดี เท่ากับการปรารภความเพียร เมื่อผู้ปฏิบัติธรรม ได้ประกอบความเพียรอย่างต่อเนื่องอย่างนี้แล้ว ต่อไปไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน หรืออยู่ในอิริยาบถไหนก็ตาม ถ้ากามวิตก (ความตรึกในทางกาม) พยาบาทวิตก (ความตรึกในทางพยาบาท) หรือวิหิงสาวิตก (ความตรึกในทางเบียดเบียน) เกิดขึ้น ย่อมสามารถทำให้ดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่ปล่อยให้เกิดกับจิตอยู่นาน ๆ จนกระทั่งกิเลสเหล่านี้ ไม่เกิดขึ้นอีก ผู้ปฏิบัติได้อย่างนี้ จึงชื่อว่า ปรารภความเพียรอย่างแท้จริง ทั้งทางกายและอย่างจิต
หลักการสำคัญของชาคริยานุโยค อีกประการหนึ่ง คือ ผู้ปฏิบัติธรรมต้องรู้จักการปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ไม่ให้ตึงเกินไป เพราะทำให้จิตฟุ้งซ่าน ไม่ให้หย่อนเกิน เพราะทำให้เกิดความเกียจคร้าน เมื่อผู้ปฏิบัติธรรม มีอินทรีย์เสมอกัน ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ ทั้งสมถะและวิปัสสนา มีความสมบูรณ์ดีแล้ว องค์แห่งโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ย่อมเกิดขึ้นรวมกันเป็นมรรค เมื่อมรรคเกิดแล้ว ย่อมตัดกิเลส ทำให้เกิดเป็นผล คือความสิ้นกิเลส ดับทุกข์ต่อไป
ผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อประยุกต์ชาคริยานุโยค ในการประกอบความเพียรมาใช้ ย่อมทำให้เกิดผลคือ การมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เมื่อมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อย่างนี้แล้ว การยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ก็เป็นปัจจุบันกาล หรือการประกอบการงานทั้งทางโลกและทางธรรม ในชีวิตประจำวัน ก็เกิดผลดี เพราะทำให้อ่านตนออก บอกตนได้ ใช้ตนเป็น เข้าใจผู้อื่นที่ยังมีกิเลสอยู่ และทั้งสามารถนำไปสู่การพัฒนาอินทรีย์ คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ให้สมบูรณ์แบบ จนถึงขั้นทำลายกิเลสให้หมดสิ้นไป พบแต่บรมสุขคือ พระนิพพาน อันเป็นเป็นหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา

Download : 255181.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕