หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » แม่ชีเณรัชฌา ศักดิ์ศิริสัมพันธ์
 
เข้าชม : ๒๐๐๐๘ ครั้ง
พุทธวิธีบริหารเพื่อการพัฒนาสำนักปฏิบัติธรรม (รัฐประศาสนศาสตร์)
ชื่อผู้วิจัย : แม่ชีเณรัชฌา ศักดิ์ศิริสัมพันธ์ ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๐๗/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สุรพล สุยะพรหม
  ยุทธนา ปราณีต
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2557
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ ๑) หลักพุทธวิธี แนวคิด และทฤษฎีเพื่อการพัฒนาสำนักปฏิบัติธรรม ๒) สภาพทั่วไปในการบริหารงานของสำนักปฏิบัติธรรม ๓) เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างในการบริหารสำนักปฏิบัติธรรมโดยคณะสงฆ์กับสำนักปฏิบัติธรรมที่บริหารโดยคฤหัสถ์    ๔) เพื่อนำเสนอรูปแบบพุทธวิธีบริหารเพื่อการพัฒนาสำนักปฏิบัติธรรม การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้การวิจัยเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่มเฉพาะ เครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง ผู้วิจัยกำหนดวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึก เจ้าอาวาสและผู้บริหาร ๖ รูป/คน วิปัสสนาจารย์ ๖ รูป/คน บุคลากร ๘ คน และผู้เข้าร่วมอบรม ๘ คน ในสำนักปฏิบัติธรรม รวม ๒๔ รูป/คนจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ จำนวน ๑๒ รูป/คน ผู้วิจัยทำการวิเคราะห์เนื้อหา โดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหาประกอบบริบท

ผลการวิจัยพบว่า

๑) หลักพุทธวิธีบริหารเป็นแนวคิดหลักการบริหารของพระพุทธเจ้าประกอบด้วยพุทธวิธีการวางแผน พุทธวิธีการจัดองค์กร พุทธวิธีในการบริหารงานบุคลากร พุทธวิธีการอำนวยการ และพุทธวิธีการกำกับดูแล แนวคิดในการพัฒนาเป็นการพัฒนาองค์กรเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนหลักสูตรการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ในสำนักปฏิบัติธรรมฝ่ายสงฆ์และการปฏิบัติในรูปแบบอื่น ๆ ของฝ่ายคฤหัสถ์

 ๒) สภาพทั่วไปของสำนักปฏิบัติธรรมที่บริหารโดยคณะสงฆ์และโดยคฤหัสถ์ มีดังนี้ ฝ่ายคณะสงฆ์มีการวางแผนงานระยะสั้นและระยะยาว เจ้าอาวาส/เจ้าสำนักเป็นผู้บริหารแต่ผู้เดียวในการจัดองค์กร การบริหารงานบุคคลด้วยหลักใช้คนให้เหมาะกับงาน การอำนวยการผู้นำเป็นหลักเพื่อกำหนดการทำงานตามสายงาน พุทธวิธีการกำกับดูแลใช้หลักธรรมคือหลักไตรสิกขาและหลักเมตตา ส่วนฝ่ายคฤหัสถ์พบว่าการวางแผนมีคณะกรรมการมูลนิธิบริหารในองค์กรขนาดใหญ่และขนาดกลาง การจัดองค์กรมีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการเป็นฝ่ายอำนวยการและปฏิบัติการต่างๆ การบริหารงานบุคคลใช้การแบ่งงานตามหน้าที่ ผู้นำของฝ่ายคฤหัสถ์มีการอำนวยการตามกระบวนการของการสั่งการ ตามลำดับขั้น การบริหารงานบุคคล การกำกับดูแลใช้หลักทางตะวันตกผสมผสานกับภูมิธรรมทางตะวันออก

การพัฒนาสำนักปฏิบัติธรรมโดยคณะสงฆ์พบว่ามีการพัฒนาบุคลากร พัฒนาสถานที่ พัฒนาสื่อ และพัฒนาหลักสูตร ส่วนรูปแบบในการพัฒนาสำนักปฏิบัติธรรมโดยคฤหัสถ์พบว่าเป็นการพัฒนา ๖ ด้านได้แก่ พัฒนาโครงสร้างในการบริหาร พัฒนาบุคลากร พัฒนาสื่อ พัฒนาร่างกายและจิตใจ พัฒนาหลักสูตร และพัฒนาสถานที่ รูปแบบการปฏิบัติทางฝั่งคณะสงฆ์ใช้หลักสติปัฏฐาน ๔ ส่วนการปฏิบัติโดยคฤหัสถ์เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมครบวงจร โดยมีหลักสูตรเป็นตัวกำหนดให้สอดคล้องกับผู้มาปฏิบัติ

๓) การวิเคราะห์เปรียบเทียบความเหมือนความต่างได้แก่ฝ่ายคณะสงฆ์เป็นนิติบุคคล ขณะที่ฝ่ายคฤหัสถ์มีคณะกรรมการมูลนิธิบริหารในองค์กรขนาดใหญ่และขนาดกลาง ใช้คู่มือการทำงานและปฏิบัติงานตามแผนงาน หลักสูตรและการสอนต่างกันทำให้จุดเด่นต่างกัน กิจกรรมที่เปิดกว้างหลากหลายในสถานที่ที่ไม่ใช่วัด มีหลักสูตรและกิจกรรมทางเลือกสอดคล้องกับวิถีชีวิตคนไทย การนำหลักการตะวันตกมาใช้ในการบริหารของฝ่ายคฤหัสถ์ โดยมีการบริหารจัดการเชิงรุกขณะที่ฝ่ายคณะสงฆ์เป็นเชิงรับแต่มีเป้าหมายเดียวกัน

๔) รูปแบบพุทธวิธีบริหารเพื่อการพัฒนาสำนักปฏิบัติธรรมฝ่ายคณะสงฆ์ใช้หลักในการบริหารสอดคล้องกับพุทธวิธีบริหารของพระพุทธเจ้า ส่วนของคฤหัสถ์ใช้การประยุกต์หลักบริหารตะวันตกกับผสานกับหลักธรรม ในการพัฒนาเป็นการพัฒนาองค์กร ๖ ด้าน การปฏิบัติใช้หลักสติปัฏฐาน ๔ และกิจกรรมที่ประยุกต์ร่วมสมัย โดยใช้หลักธรรมได้แก่ ไตรสิกขา เมตตา โดยมีจุดหมายเพื่อให้ความสำคัญกับการปฏิบัติธรรม พร้อมกันกับการช่วยกันรักษา ปฏิบัติตาม และถ่ายทอดคนรุ่นหลังได้ปฏิบัติสืบต่อไป

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕