หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระวิศิษฏ์ ธมฺมรํสี (รัศมี)
 
เข้าชม : ๒๐๐๓๓ ครั้ง
ปัญหา และอุปสรรคในการบำรุงรักษาระบบโซล่าเซลล์ ของโรงเรียน ในเขตทุรกันดาร : โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อคคี่ (สาขาการพัฒนาสังคม)
ชื่อผู้วิจัย : พระวิศิษฏ์ ธมฺมรํสี (รัศมี) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๙/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  อุบลวรรณา ภวกานันท์
  นที ทองอุ่น
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2561
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และแนวทางในการแก้ไขในการบำรุงรักษาระบบโซล่าเซลล์ ของโรงเรียนในเขตทุรกันดาร : โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อคคี่ ตำบลปิล๊อค อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญในงานวิจัยครั้งนี้คือ ครู ๕ คน เจ้าหน้าที่ ๖ คน นักเรียน ๒๐ คน เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อคคี่ ๑ คน และเจ้าหน้าที่จากกรมการพัฒนาพลังงานทดแทนจังหวัดกาญจนบุรี ๑ คน รวมทั้งสิ้น ๓๓ คน เครื่องมือในการเก็บข้อมูลคือ แบบสัมภาษณ์เชิงโครงสร้างปลายเปิด และใช้การวิเคราะห์ผลร่วมที่ตรงกันจากทุกกลุ่มในการสรุปและอภิปรายผลเป็นความเรียง

การลุงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ทุรกันดาร ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น การติดตั้งโซล่าเซลล์ในพื้นที่ห่างไกลถือเป็นการพัฒนาด้านพลังงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืน แต่หากผู้นำปฏิบัติทำอย่างไม่มีประสิทธิภาพก็จะทำให้เกิดความล้มเหลวได้ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงพยายามหาวิธีการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

ผลการวิจัยพบว่า ระบบโซล่าเซลล์ในโรงเรียนมีการชำรุดทั้งที่เกิดจากการใช้งานปกติและความผิดพลาดในการบำรุงรักษา อุปกรณ์ที่เสียหายบ่อยที่สุด คือ อินเวอเตอร์ที่ชำรุดจากการถูกฟ้าผ่า รองลงมาคือแบตเตอรี่ และปัญหาเรื่องแผงโซล่าเซลล์เสียหายพบว่ามีน้อยที่สุดตามลำดับ สภาพอากาศ ฝุ่นละออง ส่งผลต่อประสิทธิภาพของระบบ การทำความสะอาดแผง ๒ เดือนต่อครั้งจะช่วยยืดอายุการใช้งานของแผง และประสิทธิภาพของระบบดีขึ้น การขาดทักษะและความรู้ในการบำรุงรักษาระบบของบุคลากร ทำให้ไม่สามารถที่จะวิเคราะห์วางแผนในการการดูแล ตรวจสอบ และการบำรุงรักษาระบบที่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดความความเสียหายหรือเสื่อมสภาพแก่อุปกรณ์ต่าง ๆ เร็วขึ้นเช่นแบตเตอรี่ และผลการทดลองยังพบว่าบุคลากรที่ความรู้ในระบบมากกว่า จะให้ความร่วมมือในการบำรุงรักษาระบบมากกว่า การที่บุคลากรขาดความใส่ใจ และไม่มีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาระบบ เพราะมองว่าหน้าที่ในการบำรุงรักษาระบบ เป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น หรือมองว่าตนเองไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ และงานประจำที่ตนเองต้องรับผิดชอบนั้นก็มีเยอะอยู่แล้ว จึงหวังพึ่งพาการดูแลบำรุงรักษาระบบจากช่างผู้มาติดตั้งจะมาตรวจสอบให้เป็นประจำทุกปี ในส่วนนี้จัดว่าเป็นการขาดจิตสำนึกสาธารณะที่บุคลากรควรจะมี

สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาคือ ควรพัฒนาบุคลากรให้มีศักยภาพ เพราะคนเป็นหัวใจที่สำคัญในการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เช่น ควรมีการจัดอบรมเกี่ยวกับการบำรุงรักษาระบบโซล่าเซลล์ ในแต่ละระบบแต่ละโซนให้มีความชัดเจนถึง อุปกรณ์ต่าง ๆ ว่ามีหน้าที่อย่างไร และแต่ละตัวต้องบำรุงรักษาอย่างไรบ้าง เพื่อให้ระบบมีประสิทธิภาพมากที่สุด และยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ และควรจัดทำตารางในการบำรุงรักษาระบบโซล่าเซลล์ที่มีความกระชับ และครอบคลุม เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลรักษาระบบ จากนั้นควรมีการการจัดแบ่งกลุ่มครู และนักเรียนให้มีหน้าที่เป็นเวรคอยดูแลระบบโซล่าเซลล์ในแต่ละอาคารเพื่อเป็นการสร้างทักษะ และทบทวนความเข้าใจในการบำรุงรักษาระบบเช่น การล้างทำความสะอาดแผงโซล่าเซลล์ทุก ๒ เดือน การตรวจสอบน้ำกลั่น ดูแลทำความสะอาดส่วนอื่นทุก ๑ เดือน เป็นต้น ท้ายที่สุดผู้นำควรปลูกฝังจิตสำนึก ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่ได้จากระบบโซล่าเซลล์ เพื่อสร้างจิตสำนึกสาธารณะให้ครู และนักเรียนเกิดความรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และเต็มใจให้ความร่วมมือในการบำรุงรักษาระบบโซล่าเซลล์.

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕