หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสมชิด จารุธมฺโม (อุทากิจ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๑๑ ครั้ง
ศึกษาวิธีการสอดแทรกจริยธรรมในบทขับร้องสรภัญญ์อีสาน: ศึกษาเฉพาะกรณีบทขับร้องสรภัญญ์อีสาน ในเขตตำบลตาดทอง อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : พระสมชิด จารุธมฺโม (อุทากิจ) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  รศ.ดร.เอกฉัท จารุเมธีชน
  ดร.ประยูร แสงใส
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๔ เมษายน ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

    การศึกษาครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษามโนทัศน์เกี่ยวกับบทขับร้องสรภัญญ์ จริยธรรมที่ปรากฏในบทขับร้องสรภัญญ์อีสาน และวิธีการสอดแทรกหลักจริยธรรมในบทขับร้องสรภัญญ์อีสานโดยศึกษาจากบทขับร้องสรภัญญ์อีสาน และการสัมภาษณ์ประชาชนในเขตตำบลตาดทอง อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี คือ ผู้ฝึกสอนการขับร้องสรภัญญ์ ๓ คน คณะผู้ขับร้องสรภัญญ์ (ผู้สวด) ๓ คณะกลุ่มประชาชนทั่วไป ๒๐ คน การศึกษาได้ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งจาก หนังสือ เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เครื่องบันทึกเสียง (MP 3) และข้อมูลภาคสนามผลการศึกษาพบว่า จริยธรรมที่ปรากฏในบทขับร้องสรภัญญ์อีสานมีอยู่ ๒ ลักษณะคือ

จริยธรรมด้านหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา และจริยธรรมด้านจารีตจริยธรรมด้านหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาพบว่า ในบทขับร้องสรภัญญ์อีสานจะกล่าวถึงคำสอนในเรื่องทาน ศีล ภาวนา ความกตัญญู บุญ กรรม การเวียนว่ายตายเกิด นรก สวรรค์ไตรลักษณ์ อบายมุข ความสามัคคีจริยธรรมด้านจารีตที่ปรากฏในบทขับร้องสรภัญญ์อีสานพบว่า เป็นการสอนให้บุคคลปฏิบัติตามฮีต ๑๒ คลอง ๑๔ ประการ โดยแบ่งจริยธรรมการประพฤติปฏิบัติตามฐานะ ออกเป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้ จริยธรรมสำหรับการปกครองพบว่า นักปกครองที่ดีควรปฏิบัติตามฮีตบ้านครองเมืองและควรยึดหลักธรรมราชา หรือหลักทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการจริยธรรมสำหรับผู้อยู่ใต้ปกครองพบว่า ผู้ที่อยู่ใต้ปกครองที่ดีนั้นควรที่จะมีคุณธรรมประจำใจ มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อผู้ปกครอง เช่น ต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อยู่ในครรลองตามระเบียบของกฎหมายบ้านเมือง
จริยธรรมสำหรับบุคคลทั่วไปพบว่า มีทั้งข้อที่ควรปฏิบัติ และข้อที่ควรละเว้นสำหรับสามัญชนทั่วไป เพื่อมิให้บกพร่องต่อหน้าที่การงาน และการดำเนินชีวิต ในฮีต ๑๒ คลอง ๑๔ ประการนั้นได้นำเสนอไว้เพียง ๑๐ ประการ แต่ที่ปรากฏในบทขับร้องสรภัญญ์อีสานโดยภาพรวมแล้วมีกำหนดเนื้อหาที่สำคัญ ๒ ประการ คือ จริยธรรมสำหรับบุคคล และจริยธรรมสำหรับชุมชนจริยธรรมสำหรับบุคคลพบว่า เป็นการปลูกฝังคุณธรรมด้านการจัดการกับตัวเอง ให้รู้จักหน้าที่ของตัวเอง และคำนึงถึงความเหมาะสมถึงผลกระทบจากกิจการงานที่กระทำ โดยไม่เป็นการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นจริยธรรมสำหรับชุมชนพบว่า เป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันในการทำกิจกรรมใน สังคม เพื่อให้คนได้เชื่อมสัมพันธไมตรี มีความรักความสามัคคีในแต่ละชุมชน
ผลการศึกษาจริยธรรมในบทขับร้องสรภัญญ์อีสานพบว่า จริยธรรมด้านหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ในบทขับร้องสรภัญญ์อีสานจะเน้นเรื่อง ทาน ศีล บุญ กรรม ความกตัญญู ความสามัคคี และอบายมุข มากกว่าคำสอนในข้ออื่น ๆ จริยธรรมด้านจารีต ในบทขับร้องสรภัญญ์อีสานจะเน้นจริยธรรมทั้งของบุคคลและจริยธรรมในสังคมด้วย วิธีการสอดแทรกจริยธรรมในบทขับร้องสรภัญญ์อีสานในเขตตำบลตาดทองพบว่า ในบทขับร้องสรภัญญ์มีวิธีการสอดแทรกจริยธรรม ๓ วิธี คือใช้หลักจริยธรรมทางพระพุทธศาสนา ใช้สื่อผ่านทางประเพณีฮีตคลองของชาวอีสาน และใช้นิทานหรืออุทาหรณ์ของชาวอีสาน

Download : 255188.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕