หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ประวิทย์ เปรื่องการ
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๑ ครั้ง
ความยุติธรรมในการลงโทษทางวินัยในทรรศนะพุทธปรัชญาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : ประวิทย์ เปรื่องการ ข้อมูลวันที่ : ๑๖/๑๑/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชปริยัติกวี
  พระมหาพรชัย สิริวโร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

   ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “ความยุติธรรมในการลงโทษทางวินัยในทรรศนะพุทธปรัชญาเถรวาท” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษาข้อถกเถียงในระบบวินัยข้าราชการฝ่ายพลเรือน ๒. เพื่อศึกษาทรรศนะพุทธปรัชญาเกี่ยวกับความยุติธรรมและการลงโทษ ๓. เพื่อศึกษาทรรศนะพุทธปรัชญาเกี่ยวกับความยุติธรรมในการลงโทษทางวินัย การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ

  การวิจัยพบว่า มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัยข้าราชการฝ่ายพลเรือนอยู่ ๓ ประการ คือ ประการที่ ๑ การเน้นกฎ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นหลักประกันความยุติธรรมนั้น เมื่อนำกฎไปสู่การปฏิบัติจะพบความไม่ยุติธรรมแฝงอยู่ในวิธีการใช้กฎเสมอ มีทั้งกระบวนการที่สลับซับซ้อน เข้าใจยาก การออกกฎอื่นอันเป็นการก้าวล่วงอำนาจของผู้บังคับบัญชา การมีสองมาตรฐาน และการลงโทษซ้ำซ้อนในพฤติกรรมเดียว ประการที่ ๒ การไม่เน้นกฎ แต่ได้เปิดโอกาสให้ใช้อำนาจดุลพินิจตีความในการลงโทษทางวินัย สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับอัตตวินิจฉัยขององค์อำนาจที่มีแนวคิดต่างกัน ซึ่งกรณีนี้ดูเหมือนว่าวินัยจะเป็นเพียงเครื่องมือเพื่ออ้างความชอบธรรมให้กับองค์อำนาจเท่านั้น ประการที่ ๓ การเน้นตัวบุคคล ผู้ซึ่งมีส่วนในการใช้กฎทั้งองค์อำนาจที่ยังไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์อันแท้จริงของการลงโทษ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติซึ่งไม่มีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ดีพอ และผู้ถูกลงโทษที่มิได้ปฏิบัติตามวินัยอย่างเคร่งครัด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความไม่ยุติธรรมในการลงโทษทางวินัยข้าราชการฝ่ายพลเรือนทั้งสิ้น

  จากข้อถกเถียงดังกล่าวจะเห็นว่า การวางระบบวินัยมิได้นำเอาแนวคิดในทางศาสนา โดยเฉพาะทรรศนะพุทธปรัชญาเถรวาทมาใช้ตั้งแต่เริ่มแรก แม้ในพุทธปรัชญาจะเน้นเรื่องกฎแห่งกรรม แต่มิได้ปฏิเสธการลงโทษหากจำเป็นต้องลงโทษ และกฎหมายเพื่อการลงโทษนั้นต้องมาจากธรรม ต้องชอบธรรม และต้องเพื่อธรรมในการสนองจุดหมายของชีวิตคน ซึ่งหลักธรรมในพุทธปรัชญาเถรวาทที่สามารถนำมาใช้กับระบบวินัยได้ เช่น หลักธรรมาธิปไตย หลักประโยชน์ของทุกฝ่าย และหลักอคติธรรม เป็นต้น ทั้งนี้ เพราะพุทธปรัชญาเห็นว่าการสร้างกฎเกณฑ์ใดมาใช้บังคับกับมนุษย์กฎเกณฑ์นั้นต้องมีจุดหมายสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ด้วย

 Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕