หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาดวงเด่น ฐิตญาโณ (ตุนิน)
 
เข้าชม : ๑๖๗๗๔ ครั้ง
ารศึกษาวิเคราะห์ทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการความขัดแย้ง ทางชนชั้นของคาร์ล มาร์กซ์(๒๕๕๑)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาดวงเด่น ฐิตญาโณ (ตุนิน) ข้อมูลวันที่ : ๒๓/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ
  พระมหาไพรัชน์ ธมฺมทีโป
  ผศ. ดร.สุรพล สุยะพรหม
วันสำเร็จการศึกษา : ๔ สิงหาคม ๒๕๕๑
 
บทคัดย่อ

   การศึกษาวิเคราะห์ทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการความขัดแย้งทางชนชั้นของคาร์ล

มาร์กซ์นี้ ผู้วิจัยได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาวิวัฒนาการแนวคิดทฤษฎี
เกี่ยวกับความขัดแย้งทางชนชั้นในสังคม (๒) เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการต่อสู้ทางชน
ชั้นและการบริหารจัดการความขัดแย้งทางชนชั้นของคาร์ล มาร์กซ์ (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์
แนวคิดทฤษฎีที่นำมาแก้ไข บริหารจัดการปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้นของคาร์ล มาร์กซ์
วิวัฒนาการแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับความขัดแย้งทางชนชั้นในสังคมนั้น จากการศึกษา
พบว่า สังคมบุพกาลนั้นเป็นสังคมที่ไม่ซับซ้อนมากนัก ทำการผลิตหาเลี้ยงชีพเท่าที่จำเป็น เป็นระบบ
แบบญาติพี่น้องที่พึ่งพาอาศัยกัน จนกระทั่งเมื่อสังคมมีขนาดใหญ่ขึ้น มีกระบวนการผลิตที่มากขึ้น
จึงมีการสะสมผลผลิตและแบ่งกลุ่มแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ เริ่มก่อเกิดเป็นกลุ่มชนชั้นแบ่งฝ่ายกัน
ชัดเจน เกิดกลุ่มชนที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจ อาชีพ รายได้ ทรัพย์สิน เกียรติยศชื่อเสียงหรือ
อำนาจสูงกว่าหรือต่ำกว่าบุคคลอื่น ๆ สภาพชนชั้นจะมีความไม่เท่าเทียมกัน มีการกีดกันทั้งในเรื่อง
สิทธิ์และโอกาส มีการต่อสู้ขัดแย้งกันทั้งในแง่ของความคิด ทรัพย์สิน ผลประโยชน์ อำนาจ ศักดิ์ศรี
สิทธิและเสรีภาพ มีความรังเกียจสถานภาพ ดูถูกเหยียดหยามกันและกัน ความขัดแย้งเป็นภาวะเข้ากัน
ไม่ได้หรือแข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่ขาดแคลน ทำให้เกิดความหวาดกลัว ระแวงสงสัยไม่
ไว้ใจกัน
แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้น และการบริหารจัดการความขัดแย้งทางชน
ชั้นของคาร์ล มาร์กซ์ จากการศึกษาพบว่า คาร์ล มาร์กซ์ มองกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ประวัติศาสตร์ทั้งหมดเป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ระหว่างชนชั้นผู้ขูดรีดกับชนชั้นที่ถูกขูดรีด มีจุดประสงค์เพื่อต้องการครอบครองวัตถุหรือผลิตผล ชนชั้นเป็นเงื่อนไขใหญ่สำคัญที่สุดที่ส่งเสริมกระตุ้น
ให้มีการขูดรีดเอารัดเอาเปรียบกัน กดขี่ขูดรีดและการขัดแย้งของสังคมมนุษยชาติ ที่ใดมีชนชั้นที่นั่น
สภาพความขัดแย้งต่อสู้กันของคนในสังคมจะต้องเกิดมีแน่นอนไม่ช้าก็เร็ว เพราะชนชั้นเป็นต้นเหตุ
หรือเครื่องหมายของความไม่เท่าเทียมกันหรือสะท้อนถึงความไม่ยุติธรรมทั้งในส่วนของรายได้ ความ
มั่งคั่ง อำนาจ เกียรติภูมิ เชื้อชาติ ศักดิ์ศรี มีการใช้ช่องทางการเมือง กฎหมาย ศาสนา ศิลปะ
วรรณกรรมเป็นเครื่องมือของการปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นของตน และกีดกันผลประโยชน์ของ
ชนชั้นอื่น คาร์ล มาร์กซ์จึงมีแนวคิดทฤษฎีให้ทำการโค่นล้มปฏิวัติอำนาจอย่างเด็ดขาดต่อชนชั้น
ปกครอง มีความจำเป็นที่จะต้องทำลายล้างยกเลิกระบบชนชั้น ชนชั้นจะสูญสลายไปได้ก็ด้วยการ
โค่นล้มปฏิวัติและทำการปกครองบริหารจัดการโดยชนชั้นกรรมาชีพ เพื่อเป็นการยุติปัญหาความ
ขัดแย้ง การเอารัดเอาเปรียบและการกดขี่ขูดรีดหรือความไม่เสมอภาคกันระหว่างชนชั้นได้อย่างถาวร
ให้ทำการยกเลิกสิทธิหรือทรัพย์สินในที่ดิน นำทรัพย์สินที่ดินทั้งหมดมาใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม
รวมเครื่องมือทางการผลิตทั้งมวลเข้าสู่รัฐ ทำการร่วมกันผลิตหรือกำหนดเป้าหมายเพื่อส่วนรวม จะ
ทำให้ผลผลิตต่าง ๆ ในสังคมมีมากเพียงพอที่จะตอบสนองให้กับทุกคนในสังคมได้ตามความต้องการ
เมื่อสังคมปราศจากชนชั้น ปราศจากการขูดรีดเอาเปรียบและการบังคับเผด็จการแล้ว จะไม่มีความ
ขัดแย้ง จะเป็นสังคมที่มีแต่การบริหารจัดการด้านการผลิตทางเศรษฐกิจ ไม่มีรัฐชนชั้นทำการ
ปกครอง
จากการศึกษาวิเคราะห์แนวคิดทฤษฎี ที่นำมาแก้ไขหรือบริหารจัดการปัญหาความขัด
แย้งทางชนชั้นของคาร์ล มาร์กซ์ พบว่าในการบริหารจัดการมีการใช้ความรุนแรงแบบเผด็จการเพื่อ
การปฏิวัติ ใช้รัฐเผด็จการสลายชนชั้นและแก้ไขความขัดแย้ง การเอารัดเอาเปรียบ แก้ไขความไม่เท่า
เทียมกันด้วยการทำทรัพย์สินให้เป็นของส่วนรวม เป็นต้น แนวทางการบริหารจัดการความขัดแย้งทาง
ชนชั้นนั้นหลากหลายอาจจะเหมาะสมใช้ได้ดีในยุคของมาร์กซ์ แต่ในยุคปัจจุบันคงไม่สามารถนำไป
ใช้ได้ในทุกประเด็นหรือในทุก ๆ สถานการณ์ จะต้องเลือกปรับใช้ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นนั้น ๆ
กล่าวคือ การยกเลิกชนชั้น ยกเลิกกรรมสิทธิ์ ยกเลิกกำไร การใช้อำนาจ ต้องใช้วิธีการผ่อนปรนเข้าหา
กันหรือการผสมผสานประนีประนอมค่อยเป็นค่อยไป หรือการกลืนกลาย (assimilation) ผสมผสาน
กลมกลืนของกลุ่มชนชั้นแต่ละกลุ่ม หรืออาจขอความร่วมมือ (co-operation) ความเห็นพ้องต้องกัน
(consensus)ในการขจัดความขัดแย้ง แม้กระทั้งการลดความไม่เสมอภาคอาจใช้วิธีหลีกเลี่ยงการแข่งขัน
และด้วยวิธีการจัดสรรผลประโยชน์หรือการกระจายรายได้ให้ทั่วถึง เป็นต้น
โดยสรุปแล้วความขัดแย้งทางชนชั้นมีมานานและมีได้จากหลายสาเหตุ ความขัดแย้งกันใน
สังคมคงไม่ได้มาจากระบบชนชั้นเพียงช่องทางเดียว เพราะถึงแม้ว่าสังคมปราศจากชนชั้น ความ
ขัดแย้งก็ยังคงปรากฎอยู่ แสดงถึงว่าชนชั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม ดังนั้น ในการแก้ไขความขัดแย้งในสังคม จะต้องอาศัยวิธีการหรือแนวทางที่หลากหลายมาเป็น
เครื่องมือผสมผสาน จึงจะทำให้ความขัดแย้งในสังคมนั้นสูญสลายไปได้หรือปรากฏน้อยที่สุด

Download : 255212.pdf

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕