หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ณรงค์ วิชิตญาณ
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๘ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธธรรมที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ในการแก้ปัญหา : กรณีวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒
ชื่อผู้วิจัย : ณรงค์ วิชิตญาณ ข้อมูลวันที่ : ๐๘/๐๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระราชปริยัติมุนี (เทียบ สิริญาโณ)
  แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยเรื่อง “การใช้หลักพุทธธรรมของพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว : กรณีวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒” โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาวิกฤตการณ์ในประเทศสยาม ในช่วงการรุกรานของจักรวรรดินิยมตะวันตก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ และ ๓) เพื่อศึกษา วิเคราะห์หลักพุทธธรรม ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงใช้ในการแก้ปัญหา : กรณีวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ และวิธีดำเนินการวิจัยในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research)

ผลการวิจัยพบว่า

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ออกล่าอาณานิคมในทวีปเอเชีย และเอเชียอาคเนย์ ประเทศอินเดีย พม่า มลายู (มาเลเซีย) ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ส่วนเวียตนามและเขมรซึ่งตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินโดจีน ต้องตกเป็นเมืองขึ้นและเมืองในอารักขาของฝรั่งเศส หลังจากที่ยึดครองเวียตนามและเขมรได้แล้ว ฝรั่งเศสวางแผนที่จะยึดครองประเทศลาวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอินโดจีน ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และขณะนั้นลาวเป็นประเทศราชของสยาม ฝรั่งเศสขอให้สยามสละสิทธิ์เหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง โดยให้เหตุผลว่าลาวเคยเป็นเมืองขึ้นของเวียตนามมาก่อน โดยอ้างว่าเมื่อเวียตนามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสแล้ว ลาวก็ต้องตกเป็นของฝรั่งเศสด้วยในฐานะผู้สืบสิทธิ เมื่อสยามปฏิเสธ ฝรั่งเศสจึงพยายามหาเหตุอันจะนำไปเป็นข้อพิพาทกับสยามเรื่อยมา และที่สุดฝรั่งเศสตัดสินใจส่งเรือปืนสองลำข้ามสันดอนเข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ทำให้เกิดการสู้รบกับกองกำลังของฝ่ายสยามที่อยู่รักษาการณ์ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทร ที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า เมืองสมุทรปราการ ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับความเสียหาย ทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน แต่ฝ่ายฝรั่งเศสกลับเรียกร้องให้สยามชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายฝรั่งเศส และให้สยามสละสิทธิในดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง

ในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ และเหตุการณ์ต่อเนื่องต่อกรณีพิพาทต่าง ๆ ที่มีกับอังกฤษและฝรั่งเศสนั้น พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงยึดทศพิธราชธรรม อันมีขันติ คือความอดกลั้นและอดทน อักโกธะ ความไม่โกรธ และตปะ ความเพียรเครื่องเผาผลาญกิเลส ต่อการข่มขู่คุกคามของฝรั่งเศส ทรงขอคำอธิบายถึงที่มาของการสืบสิทธิ แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมชี้แจง แต่กลับแสดงความไม่พอใจ ประกาศปิดอ่าวไทยเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๒ ในที่สุดสยามต้องยอมสละสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศลาวให้แก่ฝรั่งเศส และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝรั่งเศส และมีการลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ และในอีก ๑๐ ปีต่อมา สยามต้องสละสิทธิเมืองหลวงพระบางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง เมืองมโนไพร และเมืองจำปาศักดิ์ เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี และยอมสละสิทธิเหนือดินแดนเมืองเสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ และเกาะกง เพื่อแลกกับเมืองตราด และยอมสละสิทธิเหนือดินแดน เมืองไทรบุรี ปะลิส กลันตัน และตรังกานูให้แก่อังกฤษเพื่อแลกกับการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ทำไว้อังกฤษ

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕