หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระวิจัย อิทฺธิโก (ชัยเจริญวรรณ)
 
เข้าชม : ๒๐๐๒๐ ครั้ง
การพัฒนาคุณภาพชีวิตเชิงพุทธบูรณาการของกลุ่มชาติพันธุ์ อาข่าบนดอยแม่ฟ้าหลวง
ชื่อผู้วิจัย : พระวิจัย อิทฺธิโก (ชัยเจริญวรรณ) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๑/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ตวงเพชร สมศรี
  มนตรี สิระโรจนานันท์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๕ กันยายน ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

 

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) ศึกษาวิถีชีวิตและสภาพปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบนดอยแม่ฟ้าหลวง (๒) ศึกษาการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักภาวนา ๔ ในพระพุทธศาสนาและศาสตร์สมัยใหม่ (๓) แนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตเชิงพุทธบูรณาการในกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบนดอยแม่ฟ้าหลวง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยศึกษาทั้งเอกสาร และภาคสนาม (Field Research) พร้อมกับการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย (๑) กลุ่มผู้นำชุมชน (๒) กลุ่มสมาชิกชนเผ่าอาข่า และ (๓) กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญทางพระพุทธศาสนา

             ผลจากการวิจัยพบว่า ๑) ชาวอาข่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นที่อยู่บนดอยแม่ฟ้าหลวง ได้อพยพมาจากแถบเทือกเขาในธิเบตหรือจีนและเข้ามาตั้งรกรากที่ อ.แม่สายของประเทศไทยมีทั้งหมด
๘ กลุ่ม ทั้งนี้ จะเน้นเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบนดอยแม่ฟ้าหลวงเป็นหลัก ลักษณะโครงสร้างการ
อยู่ร่วมกันจะมีประเพณีปฏิบัติและวัฒนธรรมที่ชัดเจน การปกครองจะเน้นการเคารพผู้นำและลำดับความอาวุโสเป็นสิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกัน และสภาพปัญหาวิถีการดำเนินชีวิตของกลุ่มชาติพันธ์อาข่าบนดอยแม่ฟ้าหลวง ประกอบด้วยปัญหา ๒ ระดับ ระดับที่ ๑ ระดับปัจเจก คือ ปัญหาด้านสิทธิพลเมือง คือ การไม่มีสัญชาติซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาเรื่องสุขภาพร่างกายที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา
อย่างทั่วถึง ตลอดจนด้านโภชนาการที่ถูกต้อง และปัญหาของผู้สูงอายุและเด็กที่ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต จนนำไปสู่ปัญหาระดับที่ ๒ ระดับสังคม คือ การขาดความร่วมมือของคนในชุมชนในการดูแลรักษาธรรมชาติในพื้นที่และสภาพแวดล้อมของชุมชน เพราะเกิดจากการขาดจิตสำนึกส่วนรวม จนนำไปสู่การสร้างปัญหาต่าง ๆ ขึ้นในชุมชน เช่น ปัญหาขยะที่เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับการขาดค่านิยมที่ดีต่อส่วนรวม เช่น การไม่มีจิตอาสาในการร่วมมือกันพัฒนาชุมชนจนกลายเป็นความเห็นแก่ตัว และต่างคนต่างก็ต้องการผลประโยชน์เฉพาะตัว

             ๒) การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาโดยใช้หลักภาวนา ๔ หมายถึง
การทำให้เกิดความเจริญของชีวิต ๔ ด้านคือ (๑) ความเจริญทางกาย คือ การพัฒนาร่างกายให้มี
ความสมบูรณ์แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ (๒) ความเจริญด้านศีล คือ การมีวินัยต่อตนเอง
การควบคุมตนเองไม่ให้ตกเป็นทาสของอบายมุข (๓) ความเจริญด้านจิต คือ การสร้างความมั่นคงและความเจริญให้เกิดขึ้นภายในจิตใจด้วยการใช้หลักคุณธรรมสากล คือ ความรักและการมีจิตอาสา
(๔) ความเจริญด้านปัญญา คือ ผลอันเกิดจากการพัฒนาทั้งสามด้านที่ทำให้เกิดความสุขขึ้นมา และปัญญาที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการสร้างความรู้และความเข้าใจในการพัฒนาคุณภาพให้มีความสมบูรณ์และเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักภาวนา ๔ สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ทั้งระดับปัจเจกบุคคลและระดับสังคมได้ในเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การใช้
ทฤษฎีลำดับขั้นแรงจูงใจของมาสโลว์ ๕ ขั้น สำหรับเป็นกรอบสำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้นถือว่าเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งเมื่อบูรณาการกับหลักภาวนา ๔ ในพระพุทธศาสนาแล้วจะถือว่าเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างตรงตามความหมายอย่างแท้จริง

             ๓) การพัฒนาคุณภาพชีวิตเชิงพุทธบูรณาการในกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าบนดอยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้รูปแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตาม ๔ ขั้นตอน ดังนี้ (๑) การพัฒนาด้านกาย คือ การมีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงและสภาพแวดล้อม รวมถึงที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภคที่เหมาะสม
(๒) การพัฒนาด้านศีล คือ การมีวินัยต่อตนเองและการมีประเพณีวัฒนธรรมที่ดีในการนำมาเป็นหลักปฏิบัติ รวมถึงกฎเกณฑ์ของสังคมที่ดีและเหมาะสมสำหรับการอยู่ร่วมกัน (๓) การพัฒนาด้านจิต คือ การสร้างความเจริญให้เกิดขึ้นในจิตใจด้วยการใช้คุณธรรมสากลสำหรับทุกความเชื่อ ทุกศาสนาและ
ทุกวัฒนธรรมสามารถยอมรับร่วมกันได้ ซึ่งก็คือ ความรัก และ ความเห็นใจต่อผู้อื่นและสังคม
จนนำไปสู่การสร้างจิตอาสาให้เกิดขึ้น (๔) การพัฒนาด้านปัญญา คือ ความสุข อันเป็นผลที่เกิดจากการพัฒนาทั้งสามขั้น และปัญญาที่เป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดการเข้าใจการพัฒนาคุณภาพอย่างแท้จริง จนนำไปสู่การสร้างความสุขที่ยั่งยืน ซึ่งเรียกรูปแบบการพัฒนานี้ว่า
จตุรัสการพัฒนาคุณภาพชีวิต

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕