หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พรรณทิพา วงศ์สุทัศน์ โมคกุล
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๑ ครั้ง
การเพิ่มประสิทธิภาพการประนีประนอมข้อพิพาทศาลในอาญาด้วยหลักพุทธธรรม
ชื่อผู้วิจัย : พรรณทิพา วงศ์สุทัศน์ โมคกุล ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๓/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร
  ประพันธ์ ศุภษร
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

 

งานวิจัยเรื่อง “การเพิ่มประสิทธิภาพการประนีประนอมข้อพิพาทในศาลอาญาด้วยหลักพุทธธรรม” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ เพื่อค้นหาความขัดแย้งและขั้นตอนการประนีประนอมข้อพิพาทในศาลอาญา  เพื่อค้นหาสาเหตุความขัดแย้งตลอดจนศึกษาหลักการและหลักพุทธธรรมเกี่ยวกับการประนีประนอมในพระพุทธศาสนา  เพื่อนำเสนอวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพโดยการนำหลักพุทธธรรมในพระพุทธศาสนาร่วมกับการประนีประนอมข้อพิพาทในศาลอาญา เพื่อวิเคราะห์หลักการและวิธีการในพระพุทธศาสนาด้วยการนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการประนีประนอมข้อพิพาทในศาอาญา การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพซึ่งการวิจัยเน้นวิจัยทางเอกสารและเชิงปฏิบัติ

ผลของการวิจัยพบว่า

๑) ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ สาเหตุปัญหาของความขัดแย้งสามารถแบ่งตามปัจจัยภายนอกออกเป็น ๕ ประเภท คือ ด้านข้อมูล, ด้านผลประโยชน์, ด้านความสัมพันธ์, ด้านโครงสร้าง, ด้านคุณค่าและค่านิยม การประนีประนอมข้อพิพาทโดยคนกลางเป็นทางเลือกหนึ่งในการจัดการความขัดแย้งโดยมีบุคคลที่หรือคนกลางซึ่งในศาลเรียกว่า “ผู้ประนอมฯ” เป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้ง บทบาทของผู้ประนอมฯคือเป็นผู้ให้คำแนะนำ พร้อมที่จะเสนอแนวทางที่เหมาะสมในการจัดการความขัดแย้งเพื่อให้คู่ความบรรลุข้อตกลงได้ซึ่งทำให้คู่กรณีสามารถยุติข้อพิพาทได้ ด้วยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายและผู้ประนอมฯไม่มีอำนาจบังคับคู่ความให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ประนอมฯแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

๒) แนวคิดทางพระพุทธศาสนา รากเหง้าที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้งเกิดจากปัจจัยภายใน คือ อกุศลธรรม และปปัญจธรรม โดยทิฏฐิซึ่งเป็นหนึ่งในปปัญจธรรมนั้นถือว่าเป็นแกนกลางลึกที่สุด เพราะเป็นการยึดมั่นถือมั่นในอุดมการณ์ของแต่ละคน ถ้ายิ่งทิฏฐินั้นประกอบไปด้วยอกุศลมูล อันได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ทิฏฐินั้นจะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ เหตุปัจจัยภายในรวมทั้งเหตุปัจจัยภายนอก จะกลายเป็นแรงผลักดันทำให้เกิดสภาวะความขัดแย้งขึ้นจนนำไปสู่ความรุนแรงในที่สุด

๓) แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการประนีประนอมข้อพิพาทในศาลอาญา มี ๒ ประการ ประการแรกคือการนำเอาแนวคิดทฤษฎีของทางตะวันตก ตะวันออก และประเทศไทยในสังคมยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันและขั้นตอนการประนีประนอมข้อพิพาทในศาลอาญา เป็นการจัดการความขัดแย้งในศาลอาญาตามแนวทางแห่งหลักพุทธธรรม เพื่อจัดการความขัดแย้งในศาลอาญาได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประการที่สองคือ การวิเคราะห์หาสาเหตุความขัดแย้งในพระพุทธศาสนาและสาเหตุความขัดแย้งในศาลอาญา เพื่อออกแบบวิธีการในขั้นตอนการประนีประนอมข้อพิพาทในศาลอาญาโดยนำเอาหลักพุทธธรรมที่สอดคล้องเหมาะสมกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาประยุกต์ใช้สอดแทรกการประนีประนอมข้อพิพาทในศาลอาญา การเพิ่มประสิทธิภาพในการประนีประนอมข้อพิพาทในศาลอาญาด้วยหลักพุทธธรรมให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

ผู้วิจัยพบว่าองค์ความรู้ใหม่อีกประการหนึ่งซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเพิ่มประสิทธิภาพการประนีประนอมข้อพิพาทในศาลอาญาด้วยหลักพุทธธรรม คือการที่ผู้ประนอมฯเข้าไปจัดการให้ผู้กระทำความผิดฉุกคิดหรือเปลี่ยนความคิดใหม่ให้คิดบวก ซึ่งฐานของจิตใจในปัจเจกบุคคล สามารถฝึกฝนบ่มเพาะจิตใจให้ตั้งมั่น มีสมาธิในการปรับปรุงพัฒนาตนให้มี สัมมาทิฏฐิ มีสติสัมปชัญญะในปัจจุบันขณะ ไม่ตกเป็นทาสของกิเลสละอารมณ์ร้ายต่างๆ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบภายในจิตใจตนเอง ได้แก่ ตัณหา ทิฏฐิ มานะ เพื่อลด ละ เลิกความเชื่อมั่นถือมั่นในตัวตน ความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ ความมักได้ และความไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น อันเป็นสาเหตุแห่งความก้าวร้าวรุนแรงร่วมกับการพัฒนารูปแบบของการดำเนินชีวิตของปัจเจกบุคคล โดยดำเนินชีวิตทางสายกลางของพระพุทธองค์ดำเนินชีวิตอย่างมีสติ อันอุดมไปด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา คือ “ไตรสิกขา ”

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕