หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาอิศเรศ โรจนสิริ (ดิษฐประเสริฐ)
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๘ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ปัญหาภาษาเรื่องอนัตตาในพุทธปรัชญาเถรวาท(๒๕๕๐)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาอิศเรศ โรจนสิริ (ดิษฐประเสริฐ) ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๗/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผศ.สุนัย ครองยุทธ
  พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ
  พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๐
 
บทคัดย่อ

      วิทยานิพนธ์นี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องอนัตตาในฐานะเป็นภาษาศาสนาและวิเคราะห์ความหมายของอนัตตาเพื่อความเหมาะสมในการนำไปใช้ ผู้วิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร อาทิ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา วิทยานิพนธ์ และหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำแนกเป็น ๕ บท ดังนี้

บทที่ ๑ ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
บทที่ ๒ ทฤษฎีภาษาศาสนาทั่วไป
บทที่ ๓ ปัญหาภาษาเรื่องอนัตตาในพุทธปรัชญาเถรวาท
บทที่ ๔ วิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดเรื่องอนัตตาในพุทธปรัชญาเถรวาทกับทฤษฎีภาษาศาสนาทั่วไป
บทที่ ๕ สรุปผลการวิจัยและข้อเสนอแนะ
ผลการวิจัยทำให้ทราบว่า
๑) ทฤษฎีภาษาศาสนาในตะวันตก เป็นทฤษฎีแห่งการวิเคราะห์ภาษาในเชิงทฤษฎีความหมาย โดยการหาความหมายที่แท้จริงของคำ ไม่ได้วิเคราะห์เจาะลึกไปถึงประเด็นสูงสุดของศาสนา เป็นการมองภาษาศาสนาเพียงผิวเผินเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นข้อแตกต่างจากทฤษฎีภาษาศาสนาในตะวันออก โดยเฉพาะในพุทธปรัชญาเถรวาทอย่างสิ้นเชิง เพราะในพุทธปรัชญามุ่งหมายเอาทฤษฎีมาวิเคราะห์เพื่อให้เป็นผลประโยชน์เกิดขึ้นแก่ตนเองและสังคมโดยรวม กล่าวคือการพาตนและส่วนรวมให้ถึงความพ้นทุกข์ได้นั่นเอง
๒) คำว่าอนัตตาในฐานที่เป็นคำภาษามคธหรือภาษาบาลี สามารถตีความหมายออกไปได้หลายนัย โดยเฉพาะในประโยคที่เป็นพุทธพจน์ คนไทยไม่ใช่คนมคธ จึงไม่สามารถที่จะเข้าถึงความหมายที่แท้จริงของอนัตตาได้อย่างชัดเจน แม้กลุ่มนักวิชาการส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีความแจ่มชัดในเรื่องนี้ เพราะเหตุนี้จึงมีการตีความหมายไปต่าง ๆ กัน ผลของการตีความหมายออกไปต่างๆ กัน ก็คือแนวคิดที่ได้จากการตีความแผ่ขยายสู่สังคมวงกว้าง และยึดถือความหมายของอนัตตาตามกันไป ผิดบ้าง ถูกบ้าง
๓) จากการวิเคราะห์ทำให้ทราบว่า ความหมายของอนัตตาควรมี ๓ ความหมาย คือ๑. อนัตตาใช้ในความหมายเป็นบริบททั่วไป กล่าวคือ ความหมายทั่วไปซึ่งเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ไม่ต้องดูถึงบริบทที่อยู่โดยรอบของอนัตตา ควรให้ความหมายของอนัตตาว่าไม่ใช่ตัวตน หาแก่นสารมิได้หรือหาตัวตนมิได้ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าอนัตตาในระดับของภาษาคน๒. อนัตตาใช้ในความหมายเป็นบริบทของคำนามที่เป็นโลกียธรรม เช่น ควรนำไปเป็นบริบทของคำว่าเบญจขันธ์หรือขันธ์ ๕ อันได้แก่ รูปเป็นไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตนสัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน ดังนี้เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้เกมภาษาของอนัตตาก็จะเปลี่ยนไปตามบริบทของเบญจขันธ์ แต่ความหมายหรือคำจำกัดความของอนัตตาไม่ได้เปลี่ยนไป ซึ่งอนัตตาที่ใช้บริบทนี้เป็นบริบทที่ตายตัวไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นอีก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะรูปเป็นอนัตตา ฉะนั้นรูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ”
๓. ความหมายของอนัตตาในบริบทของนิพพาน การใช้อนัตตาในบริบทนี้ควรจำแนกถึงระดับของนิพพานที่นำมาเป็นบริบทของอนัตตา ดังนั้น ผู้ใช้ต้องคำนึงถึงนิพพานว่าเป็นนิพพานในระดับที่เป็นโลกียธรรมหรือโลกุตตรธรรมกล่าวโดยสรุป ความหมายของอนัตตายังไม่มีความแน่นอนตายตัว ทั้งนี้ก็เพราะขึ้นอยู่กับว่าจะนำอนัตตาไปเป็นบริบทของคำใดเป็นสำคัญ ปัญหาสำคัญของอนัตตาคือการเข้าใจด้านภาษาบาลีหรือภาษามคธไม่ตรงกัน การมองที่จุดพื้นฐานของภาษาแห่งอนัตตาส่วนใหญ่มองไปที่คนละประเด็นปัญหา ในพุทธปรัชญามองอนัตตาในเชิงญาณวิทยา เพราะมุ่งถึงการเข้าใจสภาวะที่เกื้อกูลกับความรู้เพื่อนำไปจนถึงการบรรลุจุดหมายสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา แต่นักปรัชญาตะวันตกมองเพียงแค่ระดับความหมายผิวเผิน ดังนั้นจึงมีความต่างกันทางแนวคิดเพราะมีพื้นฐานทางศาสนาต่างกันนั่นเอง
Download :  255023.pdf

 
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕