หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระธีระพงษ์ ธีรปญฺโญ (ดอนสังเกตุ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๙ ครั้ง
การศึกษาความงามการเทศน์ในประเพณีบุญผะเหวดของ วัดพุทธประดิษฐ์ ตำบลโพนทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม
ชื่อผู้วิจัย : พระธีระพงษ์ ธีรปญฺโญ (ดอนสังเกตุ) ข้อมูลวันที่ : ๑๙/๐๓/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(ปรัชญา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  สุวิน ทองปั้น
  จรัส ลีกา
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๕ ตุลาคม ๒๕๖๑
 
บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์  คือ ๑) เพื่อศึกษาการเทศน์ในประเพณีบุญผะเหวดของวัดพุทธประดิษฐ์ ตำบลโพนทอง  อำเภอเชียงยืน  จังหวัดมหาสารคาม  ๒) เพื่อศึกษาทฤษฎีความงามตามทัศนะจิตนิยม และ ๓) เพื่อศึกษาความงามของการเทศน์ในงานประเพณีบุญผะเหวดตามทัศนะจิตนิยมของวัดพุทธประดิษฐ์ ตำบลโพนทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ได้แก่ พระนักเทศน์ จำนวน ๕ รูป คณะกรรมการจัดงานจำนวน ๑๐ คน และผู้ฟังเทศน์ผะเหวด จำนวน ๑๐ คน รวมทั้งสิ้น จำนวน ๒๕ รูป/คน วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีพรรณนาตามหลักอุปนัย

ผลการวิจัยพบว่า การเทศน์ในประเพณีบุญผะเหวด ของวัดพุทธประดิษฐ์  เป็นประเพณีที่จัดขึ้นตามฮิตสิบสองของชาวอีสาน ประเพณีนี้จะจัดทำในเดือนสี่ (มีนาคม) ของทุก ๆ ปี ประเพณีบุญเดือนสี่จะนำเรื่องราวในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า ในสมัยที่เกิดเป็นพระเวสสันดรมาเทศน์ จึงได้เรียกประเพณีนี้ว่า ประเพณีบุญผะเหวด ซึ่งเป็นชาติที่เกิดมาบำเพ็ญทานบารมีให้สมบูรณ์  ก่อนที่จะมาเกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า   

ทฤษฎีความงามตามทัศนะจิตนิยม คือ ทฤษฎีที่ให้ความสำคัญกับจิตใจ นักปรัชญา กลุ่มจิตนิยม มีความเห็นว่า ความงาม คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากจิตใจ และเป็นความงามที่มีอยู่ในจิตใจหรือรับรู้ด้วยใจ ดังนั้น ความงาม จึงหมายถึง ความเพลิดเพลิน ความทึ่ง ความซาบซึ้ง ความศรัทธา การกล่อมเกลากิเลสให้ลดน้อยลง   

ความงามของการเทศน์ในงานประเพณีบุญผะเหวดตามทัศนะจิตนิยม ของวัดพุทธประดิษฐ์  คือ ความงามที่เกิดจากการฟังเทศน์ผะเหวด ในประเด็น ดังนี้ ๑) เกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระและปริศนาธรรม ที่แฝงอยู่ในเรื่องราวของพระเวสสันดรจนสามารถนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตให้ดีขึ้น และสามารถกล่อมเกลากิเลสให้ลดน้อยลง เกิดศรัทธาในการทำบุญ ทำให้มองเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิต   ๒) เกิดความเพลิดเพลินไปกับจังหวะท่วงทำนองการเทศน์ ๓) เกิดความไพเราะจากการใช้ภาษา ที่มีการสัมผัสนอก สัมผัสใน  มีการใช้คำได้อย่างเหมาะสม  และกลมกลืนอย่างลงตัว

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕