หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » กิตติพงษ์ พุทธิมณี
 
เข้าชม : ๑๙๙๙๕ ครั้ง
กระบวนการพุทธสันติวิธีในการพัฒนาพื้นที่และชุมชนแบบมีส่วนร่วมโดยกองทัพบก (สาขาวิชาสันติศึกษา)
ชื่อผู้วิจัย : กิตติพงษ์ พุทธิมณี ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๓/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส
  ขันทอง วัฒนะประดิษฐ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๗ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

            ดุษฎีนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษาการพัฒนาพื้นที่และชุมชนแบบมี ส่วนร่วมโดยกองทัพบก . เพื่อศึกษาหลักพุทธสันติวิธีที่ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่และชุมชนแบบมีส่วนร่วม ๓. เพื่อศึกษากระบวนการใช้หลักพุทธสันติวิธีในการพัฒนาพื้นที่และชุมชนแบบมีส่วนร่วมโดยกองทัพบก โดยมี ระเบียบวิธีวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ๓ กลุ่ม ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนา ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายพลเรือน และผู้เชี่ยวชาญของกองทัพบก รวม ๑๘ รูป/ท่าน โดยยืนยันข้อมูลด้วยการสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ รวม ๖ ท่าน และนำเสนอในรูปแบบการพรรณนาโวหาร

             ผลการวิจัยพบว่า การพัฒนาพื้นที่และชุมชนแบบมีส่วนร่วมโดยกองทัพบก ที่ผ่านมา       มีลักษณะการดำเนินงานในการพัฒนาพื้นที่และชุมชนเป็น ๓ ลักษณะ คือเป็นผู้เชื่อมโยง เป็นผู้ร่วมปฏิบัติการและเป็นผู้ส่งเสริม บทบาทดังกล่าวยังขาดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่และชุมชน     ในหลายขั้นตอน ทำให้ยังประสบกับปัญหาการพัฒนาพื้นที่และชุมชนแบบมีส่วนร่วมโดยกองทัพบก ประกอบด้วย ๑. ปัญหาด้านกายภาพ ได้แก่ ปัญหาการบุกรุกของราษฎรบริเวณพื้นที่ชายแดนที่เป็นเขตหวงห้ามทางทหารและปัญหาการบุกรุกของราษฎรเข้าไปในเขตอุทยานและเขตอนุรักษ์ใหม่หลายพื้นที่เพื่อต้องการที่ทำกินเป็นของตนเอง ปัญหาเรื่องความยากจนและคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับที่ไม่ดีเนื่องจากจากประชาชนในพื้นที่ยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และปัญหาการขาดโอกาสทางการศึกษาเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่มีความรู้ความเข้าใจต่อการใช้พื้นที่ ตลอดจนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสมต่อการทำการเกษตร ๒.ปัญหาด้านจิตใจ ได้แก่ ประชาชนในพื้นที่ยังขาดจิตสำนึกและยังไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่และชุมชน ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้และยังไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐได้ครบทุกขั้นตอน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ให้ความสำคัญต่อกระบวนการมีส่วนร่วม       ในทุกขั้นตอนเท่าที่ควร ทำให้การบริหารจัดการพื้นที่และชุมชนขาดประสิทธิภาพ

             สำหรับหลักพุทธสันติวิธีในการพัฒนาพื้นที่และชุมชนแบบมีส่วนร่วมพบว่า กระบวนการพุทธสันติวิธีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามหลักธรรมของมรรค ๘ แบ่งออกเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ๑. ขั้นการใช้ปัญญา ได้แก่ การเห็นร่วมกัน/ตัดสินใจร่วมกัน (สัมมาทิฐิ) และการคิดริเริ่มร่วมกัน (สัมมาสังกัปปะ) ๒. ขั้นการใช้ศีล เป็นขั้นการหารือ ดำเนินการ กำหนดวิถีชีวิตโดยการจัดวางระเบียบ กติกาเพื่อใช้ร่วมกันในการพัฒนาพื้นที่และชุมชน ได้แก่ การปรึกษาหารือร่วมกัน (สัมมาวาจา) การดำเนินการร่วมกัน (สัมมากัมมันตะ) และการกำหนดวิถีชีวิตร่วมกัน (สัมมาอาชีวะ) ๓. ขั้นการใช้สมาธิ เป็นขั้นการพยายามที่จะรับผิดชอบและตรวจสอบนโยบายและโครงการต่าง ๆ ในทุกขั้นตอนร่วมกันด้วยจิตใจที่มั่นคงแน่วแน่ต่อกระบวนการ  พัฒนาพื้นที่และชุมชม ได้แก่ การพยายามรับผิดชอบร่วมกัน (สัมมาวายามะ) การตรวจสอบร่วมกัน (สัมมาสติ) และการเห็น/คิด/หารือ/ทำ/กำหนดวิถีชีวิต/รับผิดชอบ/ตรวจสอบด้วยจิตใจมั่นคง (สัมมาสมาธิ)

             กระบวนการใช้หลักพุทธสันติวิธีในการพัฒนาพื้นที่และชุมชนแบบมีส่วนร่วมโดยกองทัพบก ถือได้ว่าเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่กองทัพบกสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่และชุมชน ซึ่งมีแนวทางและวิธีการใช้แบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอนคือ ๑. ขั้นร่วมการจัดทำแผน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานหลักการเห็นร่วมกัน/ตัดสินใจร่วมกัน (สัมมาทิฏฐิ) และการคิดริเริ่มร่วมกัน (สัมมาสังกัปปะ) โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติตามหลักอปริหานิยธรรม ๗ และอริยสัจ ๔ ประกอบด้วย ๑.๑ ร่วมปรึกษาหารือเพื่อสืบสภาพปัญหา (ทุกข์) ๑.๒ ร่วมให้ความคิดเห็นเพื่อวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา (สมุทัย) ๑.๓ ริเริ่มร่วมกันในการหาแนวทาง โดยการกำหนดวิสัยทัศน์/พันธกิจ/เป้าประสงค์/ตัวชี้วัด/ประเด็นยุทธศาสตร์/กลยุทธ์ (นิโรธ) ๑.๔ ร่วมตัดสินใจ โดยการกำหนดเป็นแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่สอดรับกับประเด็นยุทธศาสตร์/กลยุทธ์ (มรรค) ๒. ขั้นร่วมการดำเนินการ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักการปรึกษาหารือร่วมกัน (สัมมาวาจา) และการดำเนินการร่วมกัน (สัมมากัมมันตะ) โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติตามหลักอิทธิบาท ๔ ประกอบด้วย ๒.๑ กระบวนการเต็มใจทำหรือพอใจที่จะทำงานร่วมกัน (ฉันทะ) ๒.๒ กระบวนการร่วมฝึกทบทวน/ซักซ้อม/ประสานการปฏิบัติงาน (วิริยะ) ๒.๓ กระบวนการ ร่วมกันทำตามแผนปฏิบัติการ (จิตตะ) ๒.๔ กระบวนการร่วมพินิจพิเคราะห์ในการตรวจสอบงาน (วิมังสา)       ๓. ขั้นร่วมการตรวจสอบ/ประเมินผล ซึ่งอยู่บนพื้นฐานหลักการกำหนดวิถีชีวิตร่วมกัน (สัมมาอาชีวะ) และการตรวจสอบร่วมกัน (สัมมาสติ) โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ประกอบด้วย        ๓.๑ กระบวนการร่วมให้หรือแบ่งปันผลประโยชน์ (ทาน) ๓.๒ กระบวนการร่วมสื่อสาร (ปิยวาจา)     ๓.๓ กระบวนการร่วมสงเคราะห์ (อัตถจริยา) ๓.๔ กระบวนการร่วมกันวางตัว (สมานัตตา) และ           ๔. ขั้นร่วมการแก้ไข/ปรับปรุง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานหลักการพยายามรับผิดชอบร่วมกัน (สัมมาวายามะ) และการเห็น/คิด/หารือ/ทำ/กำหนดวิถีชีวิต/รับผิดชอบ/ตรวจสอบด้วยจิตใจมั่นคงร่วมกัน (สัมมาสมาธิ) โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติตามหลักสาราณียธรรม ๖ ประกอบด้วย ๔.๑ กระบวนการร่วมกันแก้ไขด้วยความเมตตา (กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม) ๔.๒ กระบวนการร่วมกันแบ่งปันความต้องการหรือประสบการณ์ด้วยความเสียสละ (สาธารณโภคี) ๔.๓ กระบวนการร่วมกันแก้ไขปรับปรุงแผนและกฎระเบียบใหม่ (สีลสามัญญตา) ๔.๔ กระบวนการร่วมมือร่วมใจในการปรับทัศนคติโดยสร้างสรรค์ (ทิฏฐิสามัญญตา)

 

Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕