หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ปัทมกร ปุริโส
 
เข้าชม : ๑๖๗๖๔ ครั้ง
แนวทางการประยุกต์ใช้หลักพรหมวิหาร ๔ สำหรับวิชาชีพพยาบาล
ชื่อผู้วิจัย : ปัทมกร ปุริโส ข้อมูลวันที่ : ๒๔/๐๓/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระปลัดกิตติ ยุตฺติธโร
  ภัฏชวัชร์ สุขเสน
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

       วิทยานิพนธ์ เรื่องแนวทางการประยุกต์ใช้พรหมวิหาร ๔ สำหรับวิชาชีพพยาบาลนี้         มีวัตถุประสงค์หลัก ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาการดำเนินงานและจรรยาบรรณสำหรับวิชาชีพพยาบาล (๒) เพื่อศึกษาพรหมวิหาร ๔ ในพระพุทธศาสนาเถรวาท และ (๓) เพื่อเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้พรหมวิหาร ๔ สำหรับวิชาชีพพยาบาล

             ผลการวิจัยพบว่า วิชาชีพพยาบาลนั้น เป็นวิชาชีพที่ต้องยึดแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ป่วย พยาบาลจะต้องมี ๑) การดำเนินงานและจรรยาบรรณวิชาชีพพยาบาล ๖ ประการ          (๑) ประพฤติตนและประกอบกิจแห่งวิชาชีพโดยถูกต้องตามกฎหมาย (๒) ยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ (๓) ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งในด้านการประกอบกิจแห่งวิชาชีพและส่วนตัว (๔) ใฝ่รู้พัฒนาแนวคิดให้กว้างและยอมรับการเปลี่ยนแปลง (๕) ประกอบกิจแห่งวิชาชีพด้วยความเต็มใจและเต็มกำลัง (๖) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมีสติรอบรู้เชื่อมั่นและมีวิจารณญาณ ๒) พรหมวิหาร ๔ ในพระพุทธศาสนาเถรวาท คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ๓) แนวทางการประยุกต์ใช้พรหมวิหาร ๔ สำหรับวิชาชีพพยาบาล คือ (๑) เมตตา มีความรักต่อผู้ป่วย (๒) กรุณา ความช่วยเหลือให้ผู้ป่วยพ้นจากทุกข์ (๓) มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้ป่วยหายป่วย และ(๔) อุเบกขา ความวางใจเป็นกลางเมื่อรักษาผู้ป่วยไม่ได้ ในการทำหน้าที่ของพยาบาลจะต้องมีความรัก ความปรารถนาดีต่อผู้ป่วยและเพื่อนมนุษย์ เพื่อให้เขาได้รับความสุขและมีกำลังใจต่อสู้กับโรคที่เขากำลังประสบอยู่ การนำหลักพรหมวิหาร ๔ และความรู้วิชาชีพพยาบาลมาปรับใช้ในการพยาบาลก็จะทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

             การประยุกต์ใช้หลักเมตตาธรรมในวิชาชีพพยาบาล คือ การใช้หลักเมตตาธรรมในการทำหน้าที่ของพยาบาลด้วยให้ความรัก ความปรารถนาดีต่อผู้ป่วยหรือผู้เจ็บไข้และเพื่อนมนุษย์ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เพื่อให้เขาได้รับความสุขและมีกำลังใจต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บที่เขากำลังเผชิญอยู่ เป็นการนำความรู้เชิงทฤษฎีหรือความรู้ที่มีอยู่แล้วมาปรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะต้องปฏิบัติ คือ (๑) เมตตากายกรรม คือ การช่วยเหลือผู้ป่วยหรือคนไข้ด้วยความเต็มใจ แสดงกิริยาอาการสุภาพ เคารพนับถือกัน การให้การอนุเคราะห์ช่วยเหลือและเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นไม่รังเกียจผู้ป่วย แม้จะเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ (๒) เมตตาวจีกรรม คือ การช่วยบอกแจ้งผู้ป่วยหรือคนไข้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ แสดงความเคารพนับถือกัน พูดมีเหตุผล ไม่พูดให้ร้ายผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยเป็นทุกข์ใจ (๓) เมตตามโนกรรม คือ การตั้งจิตปรารถนาดีแก่ผู้ป่วยหรือคนไข้ คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน เป็นการคิดดีต่อกัน คิดเชิงบวกไม่คิดอิจฉาริษยาหรือไม่คิดมุ่งร้ายพยาบาท ถ้าพยาบาลคิดเชิงบวกแล้วปฏิบัติต่อผู้ป่วย มีความเห็นใจก็จะเกิดความสุขใจทั้ง ๒ ฝ่าย พยาบาลต้องมีความกรุณา มีความสงสารที่จะช่วยเหลือหรือสงเคราะห์ให้ผู้ป่วยหรือผู้เจ็บไข้ให้พ้นจากความทุกข์ บนพื้นฐานจิตใจอันบริสุทธิ์ และการประพฤติปฏิบัตินั้นให้สำเร็จ ซึ่งจะยังให้ตนเกิดมุทิตา คือ ความอิ่มเอิบและยินดีต่อความสุข และการพ้นจากทุกข์ของผู้ป่วย การใช้หลักกรุณาเป็นคุณธรรมของพยาบาลนั้น เนื่องจากกรุณา คือ ความสงสาร กิริยาที่สงสาร ภาวะที่สงสารในเพื่อนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ต้องการช่วยกำจัดช่วยปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของมนุษย์และปวงสัตว์                  

 Download

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕