หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พิริยา พิทยาวัฒนชัย
 
เข้าชม : ๑๖๗๕๗ ครั้ง
วิเคราะห์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการใช้พุทธศิลป์และภูมิทัศนสถานของวัดเจติยภูมิ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
ชื่อผู้วิจัย : พิริยา พิทยาวัฒนชัย ข้อมูลวันที่ : ๑๑/๐๔/๒๐๑๙
ปริญญา : พุทธศาสตรดุษฎีบัญฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  โสวิทย์ บำรุงภักดิ์
  พระครูปริยัติธรรมวงศ์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒
 
บทคัดย่อ

 

ดุษฎีนิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเถรวาทด้วยการใช้พุทธศิลป์และภูมิทัศนสถานของชาวอีสาน, เพื่อศึกษาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการใช้พุทธศิลป์และภูมิทัศนสถานของวัดเจติยภูมิ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และวิเคราะห์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการใช้พุทธศิลป์และภูมิทัศนสถานของวัดเจติยภูมิ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพภาคสนาม ด้วยการศึกษาจากคัมภีร์พุทธศาสนา จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งการลงพื้นที่ภาคสนาม โดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม นำเสนอด้วยวิธีวิเคราะห์เชิงพรรณนา

 

ผลการศึกษาพบว่า การเผยแผ่จากพุทธกาลได้ใช้การสื่อสารระดับบุคคล การปฏิบัติตนเป็นต้นแบบ หลังพุทธกาลมีการสังคายนาแล้วได้รักษาสืบต่อกันมา ปัจจุบันได้มีการให้ความสำคัญกับพุทธศิลป์และภูมิทัศนสถานไม่น้อย ชาวอีสานมีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน เป็นแหล่งรวมงานพุทธศิลป์ พื้นที่วัดได้ตกแต่งเป็นภูมิทัศนสถานให้เป็นรมมณียสถาน และให้มีที่ว่างใช้รองรับกิจกรรมวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชุมชน โดยเฉพาะวัดเจติยภูมิมีการใช้พุทธศิลป์และภูมิทัศนสถานของวัดที่มีลักษณะร่วมของสังคมอีสาน โดยผลการศึกษาการเผยแผ่พุทธศาสนาของวัดเจติยภูมิ พบว่า พุทธศิลป์หลักคือองค์พระธาตุขามแก่น เป็นผลจากความศรัทธา ความงาม และวัฒนธรรมการสร้างพระธาตุ การสร้างสิม การสร้างพระพุทธรูป การเขียนฮูปแต้ม และการมีพื้นที่รองรับกิจกรรมศาสนาตาม ฮีตสิบสองคองสิบสี่ โดยปรับภูมิทัศน์ของวัดตามความจำเป็นแต่ละยุคสมัย มีการเสริมสร้างภูมิทัศน์ ทั้งสิ่งมีชีวิต (soft scape) และสิ่งไม่มีชีวิต (hard scape) โดยไม่ทำลายหรือบิดเบือนโครงสร้างภูมิทัศนสถานเดิม แต่ส่งเสริมให้พุทธศิลป์หลักมีเอกภาพด้วยศาสตร์สมัยใหม่ เช่น การออกแบบภูมิทัศน์ให้สะท้อนบรรยากาศเดิมของภูมิทัศนสถานโดยยังคงรักษาพืชพรรณดั้งเดิมของวัดอันเกี่ยวข้องกับตำนานการสร้างพระธาตุขามแก่นบนดอนมะขาม รูปแบบการใช้พุทธศิลป์และภูมิทัศนสถานจึงผสมผสานงานดั้งเดิมและงานสร้างใหม่ โดยวัดยังรักษารูปแบบงานพุทธศิลป์ดั้งเดิมเอาไว้และปรับปรุง บำรุง รักษาภูมิทัศนสถานให้สมสมัยและสะอาด สว่าง สงบ สอดคล้องกับหลักสัปปายะในพระไตรปิฎก 

ส่วนการวิเคราะห์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยใช้พุทธศิลป์ฯ จากการศึกษาข้อมูลเอกสาร การลงภาคสนามสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมนั้น พบว่า วัดเจติยภูมิยังคงรักษาแนวทางการเผยแผ่ด้วยการสื่อสารระดับบุคคล การปฏิบัติตนเป็นต้นแบบ การทรงจำพระธรรมวิจัย และได้เพิ่มการใช้พุทธศิลป์และภูมิทัสนสถานเข้ามาช่วย โดยจัดให้มีความสอดคล้องกันของพุทธศิลป์และภูมิทัศนสถานอดีตกับปัจจุบัน เห็นได้จากการปรับใช้รูปทรงพระธาตุขามแก่น ทั้งในระดับวัดและหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดขอนแก่นจำนวนมาก จนกลายเป็นสัญลักษณ์แทนความศักดิ์สิทธิ์อันเป็นผลเชิงประจักษ์ที่เกิดจากอิทธิการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยใช้พุทธศิลป์และภูมิทัศนสถานของวัด ทั้งหมดล้วนเป็นวิธีการเผยแผ่ที่ทำให้สาธุชนเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา และเกิดความรู้ เข้าใจ แล้วน้อมนำตนเข้าสู่ธรรมะได้จริงนั่นเอง

 

Download

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕